กรอ.เสนอ 4 ยุทธศาสตร์กำจัดกากอุตสาหกรรม 5 ปีเข้าครม.สัปดาห์หน้า

ข่าวทั่วไป Friday March 13, 2015 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เตรียมเสนอ 4 ยุทธศาสตร์จัดการกากอุตสาหกรรมภายใน 5 ปีเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า พร้อมตั้งเป้าโรงงานที่มีใบอนุญาต ร.ง. 4 เข้าสู่ระบบการจัดการกากฯ ไม่น้อยกว่า 90% ในปี 2563

ขณะเดียวกัน กรอ.กำลังทำการศึกษาจัดหาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 6 แห่ง เพื่อให้เพียงพอที่จะจัดการกากอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในอนาคต ทุ่มงบจัดการกากอุตสาหกรรม 5 ปี ใช้ 430 ล้านบาท โดยคาดว่าถ้าการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมประสบผลสำเร็จ จะก่อให้เกิดธุรกิจกำจัดกากในประเทศมูลค่ากว่า 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี

นายพสุ กล่าวว่า แนวโน้มด้านเศรษฐกิจโลกได้เริ่มใช้มาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB : Non tariff barrier) มาเป็นเครื่องมือให้ทุกชาติที่เป็นผู้ผลิตอยู่ในบรรทัดฐานที่มีการดูแลภาคอุตสาหกรรมที่ทัดเทียมกัน ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องยกระดับอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ยุคสีเขียวอย่างแท้จริงซึ่งการจัดการกากอุตสาหกรรมถือเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยให้ได้มาตรฐานทั้งสินค้าและการบริหารจัดการในการผลิต

โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยโดยในปี 2557 สร้างมูลค่ามากถึงร้อยละ 40 ของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือประมาณ 5 ล้านล้านบาท จาก GDP รวม 12.14 ล้านล้านบาท ทั้งนี้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมย่อมเกิดของเสียหรือกากจากวัตถุดิบต่างๆที่ไม่สามารถทำให้เป็นสินค้าได้ทั้งหมด หรือที่เรียกว่ากากอุตสาหกรรมแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ กากอันตราย และ กากไม่อันตราย ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับการจัดการที่ถูกต้อง

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ครอบคลุมใน 3 กลุ่มผู้เกี่ยวข้องได้แก่ กลุ่มโรงงานผู้ก่อกำเนิดกาก กลุ่มผู้ขนส่งและ กลุ่มโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกาก โดยมีรายละเอียดดังนี้

ยุทธศาสตร์ ที่ 1 ควบคุมและกำกับดูแลให้ทุกโรงงานปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากปัญหาใหญ่ของการจัดการกากอุตสาหกรรม คือ ผู้ประกอบการ เจ้าของโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ยังไม่ได้มีการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยโรงงานที่มีใบประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) ที่ได้มีการแจ้งประกอบกิจการแล้วจำนวนทั้งหมด 68,000 โรง (ไม่นับโรงงานลำดับที่ 101 105 และ 106) มีโรงงานที่แจ้งขนส่งกากฯ ออกไปบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกากอุตสาหกรรมเพียงประมาณ 5,300 โรง หรือคิดเป็น 7% เท่านั้น

กรอ.เตรียมจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรมทั่วทั้ง 6 ภูมิภาค มีภารกิจหลักคือ ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการเข้าสู่ระบบอนุญาตกำจัดกากอุตสาหกรรม และติดตามการต่ออายุของโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยมีการสั่งการและเปรียบเทียบปรับ จนถึงการไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ร.ง. 4 สำหรับผู้ประกอบกิจการที่ไม่จัดการกาก

ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนขออนุญาต สก. 1 สก. 2 ได้ ผ่านระบบอนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-license) พร้อมพัฒนาระบบ Smart form เข้ามาช่วยผู้ประกอบการ และจัดสร้างระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกาก (GPS) ทั้งนี้มีรถบรรทุกกากอันตรายที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและจะต้องติดตั้ง GPS จำนวน 3,426 คัน

ยุทธศาสตร์ ที่ 2 สร้างความร่วมมือและแรงจูงใจ ส่งเสริมการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ โดยศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการนำกากมาใช้ประโยชน์ในรูปพลังงาน 10 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการให้องค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อทำหน้าที่เป็น Third party ในการศึกษาหาพื้นที่แทนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีจำนวนจำกัดเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 10 แห่งภายใน ปี 2558 และปรับปรุงตำรากากอุตสาหกรรม สำหรับผู้ควบคุมมลพิษกากอุตสาหกรรมและ Third party ขณะเดียวกันได้สร้างแรงจูงใจโดยการเพิ่มสัดส่วนเงินรางวัลจากค่าปรับผู้ลักลอบทิ้งกากให้แก่ประชาชนผู้แจ้งเบาะแส ร้อยละ 25% ของค่าปรับส่วนที่เป็นเงินรางวัล ยกตัวอย่างหากค่าปรับ 200,000 บาท จะถูกแบ่งเป็นเงินรางวัล 60 % ที่เหลือส่งเข้ากระทรวงการคลัง 40% กรณีดังกล่าวเงินรางวัลเท่ากับ 120,000 บาท โดยผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงิน 25 % ของเงินรางวัลซึ่งเท่ากับ 30,000 บาท โดยจะมีการขอเพิ่มสัดส่วนนี้ขึ้นหลังจากที่เสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมีนาคม

ยุทธศาสตร์ ที่ 3 เครือข่ายภายในประเทศที่ให้การสนับสนุนกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเพิ่มความเข้มงวดกับผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรมป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบทิ้ง โดยขอความร่วมมือเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่มีอำนาจดูแลยานพาหนะ(รถบรรทุก) และถนน ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยตรวจ/ควบคุมรถขนส่งกากอันตรายที่วิ่งตามท้องถนน โดยเฉพาะรถที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานและไม่มีติดตั้ง GPS อย่างถูกต้อง

ส่วนเครือข่ายต่างประเทศที่ให้การสนับสนุนกระทรวงอุตสาหกรรม คือกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) โดยองค์กร NEDO (New Energy and Industrial Technology Development Organization) ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาเตาเผาขยะร่วมที่ทันสมัย ขนาด 500 ตันต่อวัน ระยะเวลา 5 ปี มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท พร้อมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือกรมโรงงานอุตสาหกรรมศึกษาพื้นที่รองรับกาก

โดยที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ก่อตั้งเตาเผากากอันตรายด้วยความร้อนสูงแห่งเดียวในประเทศไทย ใช้งบประมาณการลงทุนถึง 1,408 ล้านบาท ที่ให้บริการเผาทำลายขยะ สิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทุกชนิด โดยได้มอบสัมปทานสิทธิบริหาร ให้บมจ. อัคคีปราการ(AKP) บริหารในรูปแบบเอกชนเมื่อปี 2551

ยุทธศาสตร์ ที่ 4 ปรับปรุงกฎหมายเพื่อติดตามผู้กระทำผิดและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการเข้มงวดกับโรงงานที่ไม่เข้าระบบอย่างถูกต้อง โดยแก้ข้อกฎหมายที่เคยเป็นอุปสรรคทั้งหมด เช่น เพิ่มบทลงโทษจำคุกกับผู้ลักลอบขนส่งกากที่มีโทษเพียงปรับ 200,000 บาท โดยขยายอายุความเป็น 10 ปี ซึ่งในปัจจุบันมีอายุความเพียง 1 ปี ทำให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่สามารถติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ทันการณ์ นอกจากนี้ยังออกประกาศ อก. ไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ร.ง. 4 อีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการที่กำลังจะเข้ามาในงานอุตสาหกรรมรวมถึงผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ที่จะต้องดูแลจัดการปัญหากากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ชุมชนและโรงงานอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความขัดแย้ง

นายพสุ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลปี 2557 พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนจำนวนโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากฯ กับจำนวนโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิล ทั่วประเทศ ประมาณ 40:1 โดย ภาคตะวันออกมีสัดส่วน 12:1 รองลงมาคือภาคกลาง 44:1 ภาคตะวันตก 65:1 ภาคอีสาน 101:1 ภาคเหนือ 102:1 และภาคใต้ 121:1 อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมทำการศึกษาจัดหาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 6 แห่ง เพื่อให้เพียงพอที่จะจัดการกากอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในอนาคต โดยจะร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆรวมทั้งภาคเอกชน หาพื้นที่รองรับกาก (Site selection) ที่เหมาะสมภายในกันยายนนี้

ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 200 ล้านบาทรองรับแผนการดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์ในระยะ 2 ปีแรก ส่วนงบประมาณรวมสำหรับการจัดการกากอุตสาหกรรม 5 ปี คือ 430 ล้านบาท คาดว่าถ้าการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จ จะก่อให้เกิดธุรกิจกำจัดกากในประเทศมูลค่ากว่า 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี

นายวันชัย เหลืองวิริยะ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ. อัคคีปราการ (AKP) กล่าวว่า บริษัทได้รับสัมปทานให้เป็นผู้บริหารโครงการให้บริการเผาทำลายสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทุกชนิดเป็นระยะเวลา 20 ปี และสามารถต่อสัญญาได้อีก โดยนโยบายหลักคือมุ่งสานต่อนโยบายของภาครัฐที่ต้องการจัดการกากอุตสาหกรรม อันตรายให้เป็นไปอย่างถูกวิธี โดยไม่มีมลพิษออกไปสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาสามารถสนองตอบต่อนโยบายของ ภาครัฐได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันลูกค้าหลักของบริษัทฯ คือ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ที่มีนโยบายหลักในการจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นรูปแบบแบบ Zero landfill รวมทั้งอุตสาหกรรมในประเทศทั้งกลุ่ม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมสี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยอมรับว่ามีกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายหลายกลุ่มที่ยังไม่เข้ากำจัดด้วยวิธีการเผาทำลายด้วยเตาความร้อนสูงของ กรอ. ที่บริษัทเป็นผู้บริหารจัดการ คือ กลุ่มขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล กลุ่มยาปราบศัตรูพืช และยาฆ่าแมลง รวมทั้งกลุ่มกากอุตสาหกรรมที่เหลือจากการนำไปปรับคุณภาพของเสีย ของโรงงานประเภท 106 ซึ่งหากกากอุตสาหกรรมจากกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับการกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้องด้วยเตาเผาที่ได้มาตรฐานของ กรอ. เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของ กรอ. ได้เป็นอย่างดี

ในอนาคตเชื่อว่าผู้ประกอบการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะมีแนวโน้มเติบโตได้ดี เนื่องจากภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธีอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันประเทศไทย มีปริมาณกากอุตสาหกรรมอันตรายปีละ 3.35 ล้านตัน และมีแนวโน้ม สูงขึ้นอีกถึงปีละ 5 แสนตัน ซึ่งเตาเผาปัจจุบันที่บริษัทฯ บริหารอยู่ สามารถเผาทำลายได้มากกว่า 50 ตัน/วัน ส่วนในอนาคตหาก กรอ. มีนโยบายจะเพิ่มเตาเผากากอุตสาหกรรมให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นครบทุกภาคของประเทศไทย จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมของบริษัทฯ จึงพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทั้งทางด้านบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการเข้าไปมีส่วนร่วมให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายภายใน 5 ปี นายวันชัย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ