สธ.เล็งชง ครม.ปรับเกณฑ์ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินอันตรายถึงชีวิตรักษาได้ทุกที่

ข่าวทั่วไป Saturday March 14, 2015 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมช.สาธารณสุข(สธ.) เผยเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบปรับระบบการจัดการการบริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติอันตรายถึงชีวิตให้เข้ารักษาได้ทุกที่ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เพื่อลดปัญหาการปฏิเสธการรักษาและเก็บเงินจากผู้ป่วยก่อน ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้

"เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้กำหนดมาตรการในการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มเติม และปรับชื่อโครงการให้เป็นโครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์" ซึ่งจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมีนาคม 2558 และจะเร่งให้มีผลใช้ในทางปฏิบัติมาตรฐานเดียวทั่วประเทศภายใน 3 เดือน" นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ.แถลงผลประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

โดยที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศให้ครบวงจรยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายให้การดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินให้รอดปลอดภัยที่สุดตามนโยบายของรัฐบาล โดยสถานบริการไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดสอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ประเมินไว้ และเสนอแนวทางปรับปรุงโครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาได้ทุกที่ ทั่วถึงทุกคน" ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ 1 เม.ย.55 เป็นต้นมา พบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินถูกโรงพยาบาลปฏิเสธการใช้สิทธิ์และถูกเรียกเก็บเงิน รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนส่วนหนึ่งไม่เข้าร่วมโครงการ และประชาชนยังมีความเข้าใจอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ตรงกับแพทย์

ทั้งนี้มีข้อสรุป 3 ประการ ได้แก่ 1.สร้างความชัดเจนเกี่ยวกับคำว่าป่วยฉุกเฉิน โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ 3 สี คือ 1.สีแดงเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติอันตรายถึงชีวิตจำเป็นต้องได้รับการดูแลเร่งด่วน 2.สีเหลือง และ 3.สีเขียว โดยผู้ป่วยฉุกเฉินสีแดงจะได้รับการดูแลตามกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 โดยไม่มีการถามสิทธิ์และไม่การปฏิเสธการรักษา มีการประเมินระดับความรุนแรงภายใน 15 นาทีหลังรับผู้ป่วย และแจ้งผลประเมินให้ผู้ป่วยและญาติได้ทราบ ทั้งนี้โรงพยาบาลจะดูแลรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นจนพ้นวิกฤติ กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังป่วยหรือ 3 วันทำการ จากนั้นหากยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อ จะมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการดูแลตามสิทธิที่โรงพยาบาลต้นสังกัดจนหายป่วยอย่างต่อเนื่องต่อไป ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีเหลืองและสีเขียว ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ จะได้รับการแนะนำข้อมูลการรักษาต่อไป โดยประชาชนที่มีความเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

2.จะมีการจัดตั้งสำนักงานบริหารระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในโรงพยาบาล ในสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกทำหน้าที่บริหารจัดการระบบในทุกมิติบริหาร และตรวจสอบระบบการเบิกจ่ายค่าบริการ รับอุทธรณ์เรื่องร้องเรียน และมีอำนาจตัดสินใจแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชนและโรงพยาบาล ตลอด 24 ชั่วโมง

และ 3.จะจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาบริการฉุกเฉิน ประกอบด้วย ทีมวิชาการด้านระบบหลักประกันสุขภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ทีมวิชาการโรงพยาบาลเอกชน โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีผู้บริหารสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นเลขานุการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ