สำหรับแนวทางที่นายกรัฐมนตรีเสนอ คือ การปฎิรูปการศึกษาควรเน้นการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน โดยเฉพาะการนำการศึกษาผ่านทางไกล DLTV มาเป็นช่องทางการกระจายความรู้ทางการศึกษา นอกจากนี้ในการขับเคลื่อนการปฎิรูปการศึกษาจะต้องเป็นรูปธรรม โดยในระยะสั้นทำทันทีภายใน 3 เดือน และในระยะยาว 5 ปี จะต้องทำให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข จบการศึกษาไปแล้วประกอบอาชีพได้ มีทักษะที่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ พร้อมยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการให้กรมอาชีวะศึกษาขยายเป้าหมาย "อาชีวะทวิภาคี" ระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพและการรับเข้าทำงาน ระหว่างนักศึกษาและผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีตั้งเป้าภายในปี 2558 นี้ ให้นักศึกษาสามารถเข้าทำงานได้ 1 แสนคน ที่สำคัญต้องมีการวางแผนและพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน โดยยึด 3 หลักการ คือ 1.การต่อยอดทักษะ เช่น สามารถซ่อมรถมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่หรือสามารถซ่อมทีวีดิจิตอลได้ 2.ต้องมีฝึกอบรมทักษะเสริมอาชีพที่สอง เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ และ 3.ผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของงานเพื่อรองรับนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ ระบบราง และการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ แผนการศึกษาดังกล่าวต้องยกระดับมหาวิทยาลัยของไทยให้สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้ และต้องผลิตคนไปรองรับการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ตรงกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งในแผนนี้ยังเน้นการพัฒนาบุคคลากร ครู อาจารย์ให้มีคุณคุณภาพ รองรับการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ไปศึกษาจุดเด่นของระบบการศึกษา 3 ประเทศ คือ ฟินแลนด์, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เพื่อนำมาพัฒนาและปฎิรูประบบการศึกษาไทย
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาคณะกรรรมการซุปเบอร์บอร์ด 2 รายคือ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) และนายวีรไท สันติประภพ ที่ปรึกษา TDRI