มติตุลาการศาลปกครองมีมติเอกฉันท์ค้านร่างรธน.ใหม่ใช้บังคับร่วมศาลยุติธรรม

ข่าวทั่วไป Sunday March 29, 2015 13:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากศาลปกครองว่าในวันนี้ (29 มี.ค.) ที่ประชุมสัมมนาตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองชั้นต้นทั่วประเทศมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การบังคับเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาลปกครอง ดำเนินการโดยหน่วยงานบังคับคดีที่อยู่ในสังกัดศาลยุติธรรม สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา (4/1/2) 1 (6) โดยกำหนดให้มีกลไกในการบังคับคดีทางแพ่งและคดีปกครอง ในสังกัดศาลยุติธรรม ทำหน้าที่บังคับให้เป็นไปตามคำสั่ง คำพิพากษาของศาลยุติธรรมและศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติ

โดยที่ประชุมสัมมนาฯ ได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลและเอกสารที่ใช้ประกอบการสัมมนาร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่กำหนดดังกล่าว มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นพ้อง เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้มีการจัดตั้งศาลปกครองเป็นศาลคู่แยกต่างหากจากศาลยุติธรรม เพื่อให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีข้อพิพาททางปกครอง ทั้งนี้ เพราะหน่วยงานทางปกครองและประชาชนไม่มีความเท่าเทียมกันในการค้นหาพยานหลักฐานเพื่อประกอบการฟ้องหรือต่อสู้คดี ศาลปกครองจึงกำหนดวิธีพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน โดยศาลหรือตุลาการศาลปกครองจะมีบทบาทสำคัญในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างสูงสุด ด้วยเหตุนี้ การบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งในการบังคับคดีปกครองทั่วไปและการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของคู่กรณีฝ่ายที่แพ้คดี ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาคดีปกครองภายหลังจากที่ศาลได้คำพิพากษาแล้ว จึงสมควรที่จะต้องดำเนินการโดยหน่วยงานบังคับคดีที่อยู่ในศาลปกครอง มิใช่สังกัดศาลยุติธรรมตามร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว

นอกจากนี้ ในการบังคับคดีปกครองเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลปกครอง จำเป็นต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างตุลาการศาลปกครองและบุคลากรของศาลปกครอง ทั้งนี้ เพื่อความรวดเร็วและประโยชน์ของคู่กรณีในการบังคับคดีเป็นสำคัญ สำหรับในส่วนของบุคลากรของศาลปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการบังคับคดีปกครองตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลปกครอง ก็จำต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหลักกฎหมายมหาชนและวิธีพิจารณาคดีปกครองเป็นสำคัญ ซึ่งในการนี้ศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองได้มีการพัฒนาบุคลากรในเรื่องดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว และในการดำเนินงานที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาข้อขัดข้องที่จะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาในการบังคับคดีได้แต่อย่างใด ดังนั้น การกำหนดให้ใช้กลไกการบังคับคดีของศาลที่มีวิธีพิจารณาที่แตกต่างกันย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ