ทั้งนี้พื้นดินใต้อ่างฯห้วยหลวง มีความสูงต่ำไม่เท่ากันตามสภาพเดิม ทำเก็บกักน้ำได้ไม่เต็มศักยภาพ จึงต้องทำการขุดลอกเพื่อปรับหน้าเขื่อนให้เสมอกัน ประกอบกับอ่างฯห้วยหลวงก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2513 อาจจะมีสภาพดินตกตะกอนบ้างจึงต้องทำการขุดลอกออกพร้อมๆกับปรับสภาพพื้นที่ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในปี 2556 กรมชลประทานได้ทำการเสริมสันเขื่อนเพิ่มขึ้น 50 เซนติเมตร ทำให้สามารถกักเก็บน้ำเพิ่มได้อีก 18 ล้านลบ.ม.ม. จากเดิมที่สามารถเก็บกักได้สูงสุด 117 ล้านลบ.ม. ดังนั้นเมื่อรวมกับการขุดลอกอ่างฯ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2559 แล้วจะทำให้อ่างฯห้วยหลวงสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 138 ล้านลบ.ม. และจะสามารถส่งน้ำให้พื้นเกษตรกรรมในเขตชลประทานเพิ่มขึ้นจากเดิม 40,000 ไร่ เป็น 87,000 ไร่ในฤดูฝน และ 25,000 ไร่ในฤดูแล้ง
นอกจากนี้ยังจะสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการผลิตน้ำประปา และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมือง อ.บ้านผือ อ.กุดจับ อ.หนองวังซอ และอ.หนองประจักษ์ จ.อุดรธานี ซึ่งจะได้รับการจัดสรรประมาณปีละ 40 ล้านลบ.ม. รวมทั้งยังช่วยรักษาระบบนิเวศน์ของลำน้ำ และป้องกันอุทกภัยในเขตจ.อุดรธานี ตลอดจนทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการทำประมงอีกด้วย “อ่างฯห้วยหลวงทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรประมาณปีละ 874 ล้านบาท โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ 105 เป็นที่นิยมบริโภคและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมาก มีราคาสูง นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชผักจำพวกข้าวโพดฝักอ่อน กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ผักคะน้า และมีการปลูกไม้ผล ได้แก่ มะม่วง ซึ่งเป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปที่มีอยู่ทั่วไป รวมไปถึงไม้ดอก ไม้ประดับ ได้แก่ ดาวเรือง เบญจมาศและเยอบีร่า โดยส่งขายให้กับตลาดทั้งในเขต จ.อุดรธานี จ.หนองคาย และจังหวัดใกล้เคียงเช่นกัน" นายวีระพงษ์กล่าว
ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำของอ่างฯ ห้วยหลวงในปีนี้ ว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 มีปริมาณทั้งสิ้น 67.3 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณเก็บกัก ซึ่งถือว่ามีค่อนข้างน้อย จึงประกาศงดส่งน้ำเพื่อทำนาปรังตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 เป็นต้นมา และเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี