"โรคมาลาเรียยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศภูมิภาคเขตร้อน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการประชุม East Asia Summit (EAS) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 และการประชุม Roll Back Malaria Partnership (RBM) เมื่อเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางแก้ไขปัญหามาลาเรียในแต่ละประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดให้มาลาเรียหมดไปจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกภายในปี พ.ศ.2573" นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีนี้กรมควบคุมโรคได้เร่งกำจัดเชื้อมาลาเรียให้หมดไป โดยจัดโครงการกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรียในพื้นที่ 928 อำเภอของประเทศไทย และจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรียกับหน่วยเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากไข้มาลาเรียภายในปี 2567 โดยใช้ 6 มาตรการ ได้แก่
1.การบริหารจัดการโครงการ การรับรองพื้นที่กำจัดเชื้อมาลาเรีย และการติดตามประเมินผล มีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆให้มีความรู้และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในทุกด้านขยายไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล(รพสต.) และเครือข่ายในพื้นที่เสี่ยง 2.การกำจัดเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยารักษาด้วยยาที่ได้การวิจัยที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น 3.การเพิ่มความครอบคลุมการเข้าถึงบริการโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง และคุณภาพการตรวจวินิจฉัยที่ได้ผลดีและรวดเร็ว เช่น การใช้เว็บแคม
4.การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังและการสอบสวนโรค กรณีมีการระบาดใหม่หรือมีผู้ป่วยที่เดินทางมาจากที่ใดที่หนึ่ง 5.การเฝ้าระวังเพื่อการตอบโต้และควบคุมโรคและการควบคุมยุงพาหะอย่างเหมาะสม การประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเพื่อร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการลดการแพร่เชื้อมาลาเรียที่อาจมากับประชากรเคลื่อนย้ายหรือตามแนวชายแดน มีการประเมินอำเภอที่ไม่มีการแพร่เชื้อมาลาเรียและมอบใบประกาศนียบัตร จากปัจจุบันประมาณ 70% ของอำเภอ เป็น 80% ในปี 2563 และ 100% ในปี 2567 และ 6.การสื่อสารความเสี่ยง การพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ และการบริหารจัดการชุมชน โดยสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง และผู้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงได้ทราบวิธีการป้องกัน และการทานยาให้ครบเมื่อต้องรักษา
สำหรับสถานการณ์โรคมาลาเรียในประเทศไทยพบว่า ปี 2557 ที่ผ่านมาพบผู้ป่วย 31,173 ราย(คนไทย 23,905 ราย ต่างชาติ 7,268 ราย) เสียชีวิต 38 ราย สำหรับในปี 2558 นี้(ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 58) พบผู้ป่วย 2,898 ราย (คนไทย 2,176 ราย ต่างชาติ 722 ราย) จำนวนผู้ป่วยลดลงจากปี 2557 ณ ช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 17.65 ส่วนในระดับจังหวัด พบว่า จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงที่สุด ได้แก่ อุบลราชธานี 1,105 ราย ตาก 637 ราย กาญจนบุรี 200 ราย ยะลา 149 ราย ศรีสะเกษ 132 ราย ตามลำดับ
"แม้ว่าสถานการณ์โรคมาลาเรียมีแนวโน้มลดลงในปีที่ผ่านมา แต่การระบาดของโรคจะเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายแดนไทยติดกับประเทศเพื่อนบ้าน การอพยพเคลื่อนย้ายประชากร และการดื้อยารักษามาลาเรีย ที่จะส่งผลต่อการควบคุมป้องกันโรคมาลาเรียเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มเน้นมาตรการควบคุมยุงพาหะหรือลดการสัมผัสยุงพาหะ" นพ.โสภณ กล่าว