สพฉ.ชี้การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทยก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Saturday April 25, 2015 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานของ สพฉ.ในการพัฒนาระบบการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินว่า มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนการพัฒนาบุคลากร ทรัพยากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงมาตรฐานในให้บริการ โดยในปี 2557 มีผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นเป็น 33,853 คน มียานพาหนะที่ขึ้นทะเบียนทั้งรถ เรือ และอากาศยานเพิ่มขึ้น 3,929 คัน และมีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเพิ่มขึ้น 2,613 ชุด ส่งผลให้การทำงานมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้มีผลการพัฒนาที่เห็นอย่างเด่นชัด คือ 1. มีการเพิ่มความครอบคลุมการบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ถึงร้อยละ 71.80 โดยมี 5 จังหวัดที่มีความครอบคลุมการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทุกพื้นที่ คือ จ.สุพรรณบุรี จ.สระแก้ว จ.ระนอง จ.ภูเก็ต และ จ.ชัยภูมิ 2. การแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1669 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75.82 จากการแจ้งเหตุทั้งหมด และมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่มาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉินในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งทำผู้ป่วยฉุกเฉินมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้น เนื่องจากได้รับการช่วยเหลือที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน และ 3.ความคล่องแคล่วในการปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุได้ภายใน 8 นาที สามารถดำเนินการได้ร้อยละ 47.20 และส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เข้ารักษามีอาการทุเลา ถึงร้อยละ 86.88

พร้อมกันนั้นยังมีการพัฒนาในอีกหลายเรื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินมากขึ้น อาทิ การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยาน หรือ sky doctor ที่เน้นการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง, การผลักดันให้มีการติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ในพื้นที่สาธารณะเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันให้มีโอกาสรอดชีวิตที่ขณะนี้ดำเนินการติดตั้งและจัดอบรมการใช้งานให้กับประชาชนทั่วไปในหลายพื้นที่แล้ว

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อปิดช่องว่างทางการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ.มีแผนระยะสั้นที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน คือ 1. จัดตั้ง "ทีมหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย" เพื่อให้การช่วยเหลือมีความครอบคลุมและคล่องแคล่วมากยิ่งขึ้น 2. เตรียมพร้อมสายด่วน 1669 ให้ประชาชนสามารถโทรทั่วไทยยามเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเชื่อมโยงการทำงาน กับทีมกู้ภัย ดับเพลิง และตำรวจเพื่อให้ประชาชนจดจำได้ง่ายผ่านสายด่วน 112 ต่อไป

3. เพิ่มช่องทางการนำส่งและดูแลรักษาพิเศษแบบด่วน (Fast Track) สำหรับกลุ่มโรคที่ต้องการรักษาด่วนพิเศษ เช่น เส้นเลือดสมองหรือเส้นเลือดหัวใจอุดตัน หรืออุบัติเหตุ 4.เพิ่มคุณภาพการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยปรับปรุงหลักสูตรและการจัดอบรมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ และเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

ส่วนการพัฒนาในระยะยาวที่จะต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 ปี คือ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติทั่วไทยจะต้องได้รับการคุ้มครอง ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนและมีคุณภาพในทุกโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้และมีความพร้อมเพื่อให้พ้นวิกฤติ และผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องการการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้พิการ จะต้องเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่รวดเร็วและเข้าถึงง่าย นอกจากนี้จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสามารถจดจำและใช้สายด่วน 112 เพียงเบอร์เดียว เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉินทุกกรณี พร้อมผลักดันให้คนไทยทุกพื้นที่มีความพร้อมช่วยเหลือปฐมพยาบาลและช่วยฟื้นคืนชีพเมื่อพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินและมีการช่วยเหลือรักษาต่ออย่างครบวงจร รวมทั้งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของอาเซียน เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินและการพร้อมตอบสนองทางการแพทย์เพื่อรับสาธารณภัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ