ทั้งนี้ จากการประชุมกับส่วนราชการต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเนปาลนั้นในเบื้องต้น กองทัพไทยจะเป็นหน่วยรวบรวมความช่วยเหลือต่าง ๆ แต่หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณแล้ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการดังกล่าวต่อไป
เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า มีคนไทยที่มีถิ่นพำนักอยู่ที่ประเทศเนปาลประมาณ 100 คน และมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่เดินทางไปท่องเที่ยวและประกอบธุรกิจ รวมทั้งแสวงบุญในประเทศเนปาล ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและคุ้มครอง ดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนไทยในเนปาล รวมทั้งการอพยพคนไทยกลับประเทศไทย (หากได้รับการร้องขอ)
และโดยที่ประเทศไทยกับประเทศเนปาลมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมาเป็นเวลายาวนาน รวมทั้งเมื่อคำนึงถึงความเสียหายที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี ของประเทศเนปาล ซึ่งในชั้นต้น รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศได้อนุมัติเงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลเนปาลแล้วจำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,000,000 บาท
นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศได้รับการประสานจากสถานเอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทย เพื่อขอรับความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมในการกู้ภัยและบรรเทาภัยพิบัติแก่ผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว โดยขอรับสิ่งของดังต่อไปนี้ ผ้าห่ม อาหาร เต้นท์ ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ปฐมพยาบาล และน้ำดื่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้มีการประชุมร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยในเนปาลและบูรณาการการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประเทศเนปาล สรุปได้ ดังนี้
1. ให้ใช้เครื่องบิน C – 130 ของกองทัพอากาศเพื่อลำเลียงเจ้าหน้าที่ บุคลากร ตลอดจนสิ่งของเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนไทยในประเทศเนปาล และรัฐบาลเนปาล อย่างน้อย 4 เที่ยวบิน
2. ให้บุคลากรทางการแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ชุดแรก รวมจำนวน 5 คน เดินทางโดยสายการบินไทยไปยังประเทศเนปาล ในวันที่ 28 เมษายน 2558 เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมการให้ความช่วยเหลือคนไทยและทางการเนปาล รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ
3. ให้จัดส่งบุคลากรแพทย์ทหารชุดแรก จำนวน 17 นาย พร้อมทั้งจัดตั้งโรงพยาบาลภาคสนาม โดยกองทัพบก
4. ให้จัดส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ อาทิ ข้าว น้ำดื่ม อาหารแห้ง ผ้าห่ม อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ จากส่วนราชการต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกองทัพบก
5. ให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ เป็นหน่วยงานส่วนหน้าในการอำนวยความสะดวกรับสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่ปลายทาง เพื่อจัดสรรให้แก่คนไทยที่ประสบภัยและทางการเนปาลต่อไป
6. ในเบื้องต้นกองทัพไทยจะเป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่รวบรวมสิ่งของบรรเทาทุกข์จากหน่วยงานภาครัฐ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จะเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการดังกล่าวต่อไปหลังจากคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติแล้ว
7. เตรียมจัดส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยพิสูจน์อัตลักษณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย บุคลากรทางการแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนเจ้าหน้าที่และบุคลากรจากหน่วยงานอื่น ๆ เดินทางไปยังประเทศเนปาล เมื่อได้รับการยืนยันจากทางการเนปาลถึงความพร้อมที่จะให้คณะเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่ได้