"ในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ กรมประมงจะดีเดย์เริ่มทดลองใช้ระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกของเรือประมง(Port in-Port out) สำหรับเรือประมงที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป ก่อนจะออกไปทำการประมงและกลับเข้าเทียบท่า" นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงความคืบหน้าการควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing)
โดยเรือทุกลำต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกของเรือประมงที่กำหนด เพื่อให้มีการรายงานข้อมูลการทำประมงรวมถึงแรงงานบนเรือประมง อาทิ ทะเบียนเรือ เครื่องมือทำการประมง ใบอนุญาตทำการประมง ผลจับสัตว์น้ำจากสมุดบันทึกการทำประมง(logbook) ตลอดจนบุคคลทำการประมงประจำเรือ(กัปตัน เจ้าของเรือ แรงงานบนเรือ) โดยจะต้องแจ้งก่อนเรือเข้า-ออกไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ที่เรือประมงแจ้งไว้จะถูกนำไปใช้ตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งถือเป็นการสร้างกฎกติกาใหม่ภายใต้ระบบสากลให้ชาวประมงถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะเมื่อ พ.ร.บ.การประมงฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ จึงชี้ให้เห็นว่า ระบบ Port in – Port out สามารถควบคุมการทำประมงไม่ให้เป็น IUU ได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยข้อกำหนดที่เรือและเครื่องมือต้องถูกต้องมีใบอนุญาตทำประมง มีการใช้แรงงานที่ถูกต้อง มีสัญญาจ้าง ถือเป็นการควบคุมกำกับของหน่วยงานรัฐที่เบ็ดเสร็จ ที่จะแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องประมง IUU และการค้ามนุษย์ในภาคแรงงานประมงด้วย
และขณะนี้ กรมประมงได้ขยายศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง(ศูนย์ PIPO) จากเดิม 26 ศูนย์ ซึ่งใช้สถานีวิทยุประมงชายฝั่งเพิ่มอีก 2 ศูนย์ คือ ที่สำนักงานประมงจังหวัดนราธิวาส และสำนักงานประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้ท่าเทียบเรือ เบ็ดเสร็จแล้วได้จัดตั้งศูนย์ PIPO จำนวนทั้งสิ้น 28 ศูนย์ ครอบคลุมท่าเทียบเรือ 297 แห่ง โดยศูนย์ PIPO ทุกแห่งมีระบบวิทยุสื่อสารที่สามารถติดต่อเรือประมงได้ทุกลำทำให้มีส่วนช่วยให้การตรวจสอบและควบคุมการทำประมง รวมถึงการประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารต่างๆ ให้เรือประมงรับทราบนั้นเป็นไปอย่างมีระบบมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ อาทิ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และภาคเอกชน อาทิ แพปลา ท่าเรือ และผู้ประกอบการเรือประมง ฯลฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในทุกขั้นตอนด้วยแล้ว
สำหรับผลการทดลองนำร่อง 1 เดือนที่ผ่านมา(1-30 เม.ย.58) ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สงขลา ระนอง และภูเก็ต ผลปรากฏว่ามีจำนวนเรือประมงขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไปมาแจ้งออกจากท่าจำนวน 350 ครั้ง และแจ้งเข้าท่าจำนวน 248 ครั้ง(ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย.58) ซึ่งถือว่าเป็นที่น่าพอใจ และจากผลการประเมินการทดลองนำร่องพบว่า การประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเรือประมงใหม่ๆ ที่ไม่เคยรับรู้และเข้าใจการทำงานระบบนี้ จึงไม่ได้ให้ความสนใจที่จะมาเข้าสู่ระบบ ดังนั้นจึงได้สั่งการให้ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล ดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างเร่งด่วน ในการให้เรือประมงเข้าสู่ระบบ Port in-Port out เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับ พ.ร.บ.การประมงฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2558
ทั้งนี้ กรมประมง หวังว่าจากการบูรณาการดำเนินการแก้ไขปัญหา IUU อย่างเข้มข้นจากทุกฝ่ายนั้น ประเทศไทยจะสามารถผ่านพ้นและปลดใบเหลืองภายในระยะเวลา 6 เดือน ตามที่ EU ให้เวลาในการแก้ไขปัญหาการทำประมงแบบ IUU ให้เป็นรูปธรรมได้ และขอให้ผู้ประกอบการเรือประมงขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป รวมถึงแพปลา และท่าเทียบเรือทั้ง 297 แห่ง โปรดให้ความร่วมมือในการเข้าสู่ระบบ Port in-Port out เพื่อเข้าสู่ระบบการทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการเตรียมความพร้อมของภาคการประมงไทยในการร่วมกันป้องกันการทำประมง IUU ตามหลักสากล ทั้งยังแสดงให้นานาประเทศทั่วโลกเห็นว่าการประมงของไทยพร้อมที่จะดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้การประมงของไทยปราศจาก IUU อันจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและอาชีพประมงของไทย