"ท่านรองนายกได้ชี้แจงประเด็นสำคัญหลายกรณีต่อท่านทูต โดยยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เรายังมีปัญหาอีกหลายจุดที่ต้องดำเนินการแก้ไข รัฐบาลไทยมุ่งมั่นเต็มที่ที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จริงใจ และทำอย่างรอบคอบ เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ต้องการดำเนินการแบบลูบหน้าปะจมูก และเชื่อว่าทุกประเทศจะเห็นความตั้งใจจริงของประเทศไทย"พลตรีสรรเสริญ กล่าว
ทั้งนี้สิ่งที่รายงานให้แก่ทูต EU ประกอบด้วย 1. การเดินหน้าแก้ไขกฎหมายที่ยังล้าหลัง ขาดความชัดเจน และบทลงโทษที่เป็นสากล
2. การทำงานร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ และ NGOs ในภาคประมงให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เช่น มูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (EJF) และรัฐบาลที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น เกาหลีใต้
3. การออกปฏิบัติการอย่างเป็นทางการแล้วของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ซึ่งจะลงมือตรวจทุกท่าเรือ และทุกลำเรือพร้อมกันทุกจุดทั่วประเทศ รวมทั้งจะทำงานร่วมกับ อียู และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับ ผู้แทนของอียู (EU delegations) ที่จะเดินทางเข้ามาติดตามสถานการณ์ในประเทศไทย จำนวน 2 คณะในเดือนนี้
"ท่านรองนายกเชื่อว่า ด้วยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกส่วน และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเช่นนี้ ประกอบกับการปฏิบัติตามคำแนะนำของอียูอย่างใกล้ชิด รัฐบาลไทยจะสามารถแก้ไขปัญหา IUU ได้มีผลเป็นที่พอใจของอียู ขณะที่ท่านทูตอียูก็กล่าวยืนยันกับท่านรองนายกว่า อียูจะทำงานร่วมกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ฉันท์มิตร และสร้างสรรค์ โดยเคารพในอำนาจอธิปไตยแลพผลประโยชน์ของประเทศไทย" พลตรีสรรเสริญกล่าว
ในส่วนของคำสั่ง คสช เรื่อง IUU ที่นายกรัฐมนตรี เพิ่งลงนามเป็นทางการ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่ขอทำความเข้าใจว่า มาตรา 44 มิใช่ยาครอบจักรวาล และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อก้าวล่วง กระบวนการทางกฎหมาย หรือกฎหมายที่มีอยู่ แต่เป็นการใช้เพื่อช่วยให้สามารถออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยให้เร่งจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้ทันที โดยมี ผบ.ทร.เป็นหัวหน้าทีมและให้อำนาจสามารถบูรณาการการ ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของไทย เพื่อให้ทำงานร่วมกันอย่างแท้จริงและเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างแท้จริง เพื่อยกระดับภาคประมงไทยให้ได้ตามมาตรฐานอียูเรื่อง IUU ทั้งนี้ หัวหน้าศปมผ. จะ รายงานผลการดำเนินงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีอย่างสม่ำเสมอ