สำหรับที่มีกระแสข่าวว่า เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ อาจแตกจากแผ่นดินไหวเนื่องจากตั้งอยู่บนรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ทำให้จังหวัดกาญจนบุรีอาจเกิดน้ำท่วมสูงถึง 22 เมตร นั้น ทาง กฟผ. ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการวิเคราะห์ความมั่นคงของเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณต่อแรงกระทำแผ่นดินไหว พบว่าเขื่อนทั้ง 2 แห่ง สามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้ถึง ขนาด 7.0 ริกเตอร์ โดยไม่พังทลาย นอกจากนี้หากเกิดแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากตัวเขื่อนตั้งแต่ 60 กิโลเมตรขึ้นไป จะไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อนแต่อย่างใด
นายเดชา กล่าวต่อถึงกรณีที่มีผู้วิตกกังวลว่า หากเขื่อนแตก จังหวัดกาญจนบุรีจะเกิดน้ำท่วมสูงถึง 22 เมตรนั้น เป็นการจำลองกรณีที่เขื่อนเกิดการพิบัติและพังทลายทั้งหมดตลอดความยาวของตัวเขื่อนซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง จากลักษณะการพังทลายของเขื่อนทั่วโลกในอดีตที่ผ่านมา น้ำจะกัดเซาะทำให้เกิดการพังทลายเป็นช่องเปิดเพียงบางส่วนของตัวเขื่อนเท่านั้น จากกรณีศึกษาของ กฟผ. ที่ได้จำลองเหตุการณ์ของเขื่อนศรีนครินทร์พิบัติ จะทำให้น้ำท่วมจังหวัดกาญจนบุรีสูง 3.20 เมตร โดยน้ำจะเคลื่อนที่จากเขื่อนถึงตัวจังหวัดใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง
ทั้งนี้ กฟผ.ได้ดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนเป็นประจำ และภายหลังการเกิดแผ่นดินไหวที่รู้สึกได้ทุกครั้ง นอกจากนี้ยังมีมาตรการเตรียมพร้อมรับมือการเกิดภาวะวิกฤติของเขื่อนเนื่องมาจากการเกิดแผ่นดินไหวและภัยธรรมชาติ โดยได้มีการดำเนินการซ้อมแผนอพยพในสถานการณ์ฉุกเฉินร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด (ปภ.) อย่างสม่ำเสมอ