จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความเข้าใจของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญเรื่อง การเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วนผสมระหว่างแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้สัดส่วนจากบัญชีรายชื่อเป็นฐาน ในการคำนวณจำนวน ส.ส. ที่พึงจะมีได้ (มาตรา 103 – 107) พบว่า ประชาชน ร้อยละ 9.60 ระบุว่า มีความเข้าใจมาก ร้อยละ 30.08 ระบุว่า ค่อนข้างเข้าใจ ร้อยละ 35.44 ระบุว่า ไม่ค่อยเข้าใจ ร้อยละ 23.92 ระบุว่า ไม่เข้าใจเลย และร้อยละ 0.96 ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในระบบ Open List ที่ผู้ลงคะแนน นอกจากจะเลือกพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ชอบแล้ว ผู้ลงคะแนนมีสิทธิในการระบุว่าต้องการให้ผู้ใดที่มีชื่อในบัญชีนั้นหนึ่งคนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. (มาตรา 105) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.32 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นรูปแบบการเลือกระบบใหม่ที่มีความน่าสนใจ ทำให้ประชาชนสามารถเลือกคนที่เราต้องการได้อย่างแท้จริง ขณะที่ ร้อยละ 15.04 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นระบบค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก และอาจเกิดความไม่โปร่งใส ร้อยละ 40.24 ไม่ระบุ / ไม่แน่ใจ เพราะไม่เข้าใจในระบบ Open List และ ร้อยละ 4.40 ไม่สนใจ/เฉย ๆ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ กลุ่มการเมืองสามารถส่งผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ และผู้สมัคร ส.ส. เขตได้ เพื่อให้กลุ่มต่าง ๆ เข้ามาร่วมในการเมืองมากขึ้น (มาตรา 112) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.20 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการเพิ่มความหลากหลายของผู้สมัคร ทำให้คนใหม่ ๆ ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมกันทำงาน ขณะที่ ร้อยละ 17.84 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ จะดูเป็นการวุ่นวายเกินไป ใช้วิธีแบบเดิมน่าจะดีอยู่แล้ว และร้อยละ 20.96 ไม่สนใจ/เฉย ๆ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 111 (15) ที่ห้ามไม่ให้ ผู้ที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. (ซึ่งอาจจะทำให้อดีตนักการเมืองที่เคยถูกสั่งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองไม่มีสิทธิลงเล่นการเมืองอีกต่อไป) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.80 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ตำแหน่งทางการเมืองถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญระดับประเทศ ถ้าถูกถอดถอนไปแล้วก็ไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือเกี่ยวข้องกับการเมือง ควรตัดขาดไปเลย แล้วนำคนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาทำงาน
ขณะที่ ร้อยละ 30.72 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ถ้ามีการปรับปรุงตนเอง หรือประพฤติดีก็ควรให้โอกาส ไม่ควรตัดสิทธิ หากมีการตัดสิทธิ อาจเกิดความขัดแย้งความวุ่นวายทางการเมืองตามมา ร้อยละ 3.36 ระบุว่า ไม่แน่ใจ อยู่ที่ตัวบุคคล และเหตุผลของการถูกถอดถอน และร้อยละ 5.12 ไม่สนใจ/เฉย ๆ