โดยข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1.ยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง รวมถึงอวนลาก อวนรุน ซึ่งทำลายแหล่งปลาและระบบนิเวศของทะเลไทย 2.ยุติการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถือนที่ล้างผลาญทะเลไทยและลดจำนวนเรืออวนลากลงครึ่งหนึ่งตามที่กรมประมงทำวิจัยร่วมกับ FAO และเสนอรัฐบาลไว้เมื่อปี 2547 3.ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายประมงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ และยกระดับธรรมาภิบาลด้านการประมงเพื่อต่อกรกับการทำประมงเกินขนาดที่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทะเลและมหาสมุทร และ 4.ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจังกับระบบการควบคุม ติดตามตรวจสอบรวมถึงมีการประสานงานเชิงนโยบายและการจัดการประมงในระดับภูมิภาคอย่างจริงจังเพื่อที่จะอุดช่องโหว่ของการทำประมงผิดกฎหมาย เช่น การขนถ่ายสินค้าจากการประมงนอกน่านน้ำกลางมหาสมุทร เป็นต้น
เนื่องจากการออกมาตรการแก้ไขของรัฐบาลนั้นเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่ตอบสนองผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลขนาดใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว และมิได้รับประกันว่าจะนำไปสู่การปลดใบเหลืองอียูได้อย่างถาวร ที่สำคัญมาตรการเหล่านั้นได้ละเลยมิติของความยั่งยืนในการฟื้นฟูทะเลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประมงเกินขนาด การใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง และการจัดการและเข้าถึงทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลอย่างเป็นธรรม
นางสุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวว่า เจตนารมณ์ของมาตรการการต่อต้าน IUU Fishing (combat IUU Fishing) และการที่ประเทศไทยได้ใบเหลืองจากสหภาพยุโรปสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดการประมงของประเทศไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทั้งในเรื่องการทำประมงผิดกฏหมาย การทำลายระบบนิเวศทางทะเล และความไม่โปร่งใสของแหล่งที่มาของสินค้าสัตว์น้ำ เป็นต้น ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบควรใช้โอกาสนี้ในการสะสางปัญหาประมงไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานและนับวันจะรุนแรงมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการแก้ปัญหาและให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรับผิดชอบ เพื่อนำไปสู่ความอย่างยั่งยืนของระบบนิเวศและวิถีประมงไทยที่เปิดโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่แค่การตั้งเป้าหมายการแก้ปัญหาเพื่อการปลดล็อคใบเหลืองเท่านั้น
ขณะที่นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งร่วมกับพี่น้องชุมชนประมงชายฝั่งมา 30 กว่าปี พบว่าทะเลไทยเป็นแหล่งอาหารโปรตีนในธรรมชาติที่สำคัญสำหรับสังคมไทย ทั้งยังเป็นอาชีพและแหล่งรายได้ของผู้คนจำนวนมาก การเร่งการจดทะเบียนเรือหรือนิรโทษกรรมเรือประมงทำลายล้างเป็นการทำร้ายและทำลายทะเลไทย และเป็นการการทำลายวิถีชุมชน ทำลายอาชีพและความเป็นอยู่ของพี่น้องร่วมชาติอย่างเลือดเย็นที่สุด ทางออกต่อเรื่องนี้คือต้องลดจำนวนเรืออวนลากลงครึ่งหนึ่งตามที่กรมประมงทำวิจัยร่วมกับ FAO และเสนอรัฐบาลไว้เมื่อปี 2547
ด้าน น.ส.อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เราควรดูแบบอย่างจากประเทศที่รอดพ้นจากใบเหลืองกรณีการประมงผิดกฎหมาย เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่ได้ปรับปรุงและพัฒนาการจัดการด้านการประมงโดยยึดหลักการทำงานร่วมกันระหว่างประชาสังคมและภาครัฐ กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภายใต้แนวคิดการจัดการอย่างมีส่วนร่วมโดยให้ความสำคัญกับประมงพื้นบ้านเท่ากับตัวเลขการส่งออกของประมงพาณิชย์ การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องทำทั้งระบบไม่ใช่เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป(EU) แจ้งเตือนต่อรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการ กรณีที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพียงพอในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม(IUU Fishing) โดยให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินตามมาตรการในแผนปฏิบัติการ
ซึ่งต่อมากรมประมงได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยตั้งทีมเฉพาะกิจควบคุมเรือประมงที่ออกจากท่าในพื้นที่ 22 จังหวัด และออกมาตรการ 6 ข้อในการจัดการปัญหาประมงไทย ได้แก่ 1.เร่งขึ้นทะเบียนเรือประมง และออกใบอนุญาตทำการประมง 2.การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง 3.การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ(VMS) 4.การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ 5.ปรับปรุง พ.ร.บ.การประมงและกฎหมายลำดับรอง และ 6.จัดทำแผนระดับชาติในการป้องกันสินค้าไอยูยู