ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า “พื้นที่ส่งน้ำทั้งสองโครงการเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำโดยธรรมชาติและไม่มีคันปิดกั้น เมื่อถึงช่วงฤดูน้ำหลากประมาณเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป มักจะเกิดน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำเกือบทุกปี สร้างความเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม และผลผลิตด้านการเกษตร ตลอดจนความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นอย่างมาก จึงได้ประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับกลุ่มเกษตรกรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนได้ข้อสรุปว่า ต้องปรับระยะเวลาการปลูกพืชในพื้นที่ให้เร็วขึ้น โดยเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่ 1 เมษายน เป็นต้นไป เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นแก้มลิงตามธรรมชาติ จึงจะต้องให้เกษตรกรทำนาปีก่อนพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2558 ก่อนที่จะถูกน้ำท่วมขัง"
ด้าน ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคกลางตอนบน คือ จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ว่า ขณะนี้สภาพน้ำท่าในลำน้ำปิง ยม และน่าน มีปริมาณน้ำเฉลี่ยราวร้อยละ 15 ของลำน้ำ ซึ่งน้อยกว่าแผนที่วางไว้ ส่วนปริมาณน้ำต้นทุน ที่มาจาก 3 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล ขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,140 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 8 ของปริมาณการกักเก็บเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,612 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 17 ของปริมาณการกักเก็บและเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำใช้การ 179 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณการกักเก็บ
สำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อเพาะปลูกพืชในฤดูฝนปีนี้ โดยเฉพาะการทำนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานได้เริ่มส่งน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา เพื่อให้เกษตรกรเริ่มการเพาะปลูก ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ คาดว่าเกษตรกรจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนฤดูน้ำหลากในเดือนกันยายนนี้