ขณะที่ร้อยละ 18.08 ระบุว่าผลลัพธ์การทำรัฐประหารโดย คสช.เหมือนกัน เพราะเป็นการทำรัฐประหารและควบคุมอำนาจโดยทหารซึ่งต่างมีผลดีผลเสียพอๆ กัน ส่วนประชาชนอีกร้อยละ 7.20 ระบุว่าผลลัพธ์ของการทำรัฐประหารโดย คสช.แย่กว่า เพราะยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ คมช.ยึดอำนาจแค่ไม่กี่เดือนก็คืนอำนาจให้กับประชาชนแล้ว อีกทั้ง คมช.ยังให้สิทธิและเสรีภาพความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นมากกว่านี้ โดยมีเพียงร้อยละ 0.16 ระบุว่าผลลัพธ์แย่ทั้งสองฝ่าย ไม่ควรมีการทำรัฐประหาร ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อประเทศชาติ และร้อยละ 3.28 ไม่ระบุ/ไม่สนใจ
ด้านความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง ว่าจะสามารถเดินหน้ากระบวนการปฏิรูปประเทศต่อไปได้ พบว่า ประชาชนร้อยละ 19.12 ระบุว่า มีความมั่นใจมาก, ร้อยละ 22.00 ระบุว่า ค่อนข้างมีความมั่นใจ, ร้อยละ 31.28 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความมั่นใจ, ร้อยละ 24.64 ระบุว่า ไม่มีความมั่นใจเลย และร้อยละ 2.96 ไม่ระบุ/ไม่สนใจ
โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่าค่อนข้างมีความมั่นใจ – มีความมั่นใจมาก ให้เหตุผลว่า เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ ได้วางรากฐานระบบการปฏิรูปไว้แล้วเป็นอย่างดี รัฐบาลชุดใหม่น่าจะสามารถสานต่อไปได้ ขณะที่ผู้ระบุว่าไม่ค่อยมีความมั่นใจ – ไม่มีความมั่นใจเลย ให้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจในตัวนักการเมืองที่จะเข้ามาบริหารงาน ส่วนใหญ่ทำเพื่อประโยชน์ของตัวเองมากกว่า ถึงจะเป็นรัฐบาลชุดใหม่ก็ยังคงเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ปัญหาบางอย่างยังต้องการได้รับการแก้ไข ต่างฝ่ายต่างมีความคิดที่เป็นของตัวเองและมีความหลากหลาย
สำหรับความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อประเทศไทยหลังการเลือกตั้งว่าจะไม่กลับไปสู่วังวนเดิมอีก คือ มีคนใช้อำนาจในทางที่ผิด มีความขัดแย้ง และการรัฐประหารโดยฝ่ายทหาร พบว่า ประชาชน ร้อยละ 12.40 ระบุว่า มีความมั่นใจมาก, ร้อยละ 18.16 ระบุว่า ค่อนข้างมีความมั่นใจ, ร้อยละ 35.36 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความมั่นใจ, ร้อยละ 31.60 ระบุว่า ไม่มีความมั่นใจเลย โดยมีเพียงร้อยละ 2.48 ไม่ระบุ/ไม่สนใจ
ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ที่ระบุว่าค่อนข้างมีความมั่นใจ – มีความมั่นใจมาก ให้เหตุผลว่า บ้านเมืองได้รับการแก้ไขและปฏิรูปในบางเรื่องไปบ้างแล้วปัญหาต่างๆ จึงน่าจะลดลง ขณะผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยมีความมั่นใจ – ไม่มีความมั่นใจเลย ให้เหตุผลว่า ยังมีการเลือกปฏิบัติต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ยังคงมีความขัดแย้งภายใต้ความสงบอยู่ อีกทั้งรัฐบาลที่เข้ามาส่วนใหญ่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์มากกว่าทำเพื่อประเทศ รัฐบาลที่จะเข้ามาก็เหมือนเดิม เป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่สามารถแก้ไขได้เกิดเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้งและการปฏิรูปประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.56 ระบุว่า ควรมีการปฏิรูปให้เรียบร้อยก่อนการเลือกตั้ง เพราะระบบเก่าที่ผ่านมายังมีปัญหาต่าง ๆ ที่ควรได้รับการแก้ไขใหม่ เพื่อเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้า ควรมีการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปประเทศให้มั่นคงก่อนเพื่อปูทางให้รัฐบาลชุดต่อไปสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและลดปัญหาความขัดแย้งที่จะตามมา ควรปฏิรูปบ้านเมืองให้เรียบร้อยก่อนซึ่งการเลือกตั้งนั้นสามารถทำเมื่อไหร่ก็ได้
ขณะที่ ร้อยละ 24.00 ระบุว่า ควรมีการเลือกตั้งโดยเร็วก่อนแล้วค่อยให้รัฐบาลใหม่เดินหน้ากระบวนการปฏิรูปประเทศ เพราะควรเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับชาวต่างชาติ ควรมีรัฐบาลที่เป็นทางการก่อนแล้วให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาปฏิรูปประเทศ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในภายหลัง โดยมีเพียงร้อยละ 1.84 ระบุว่า ควรทำควบคู่ไปพร้อมกันหรือทำอะไรก่อนก็ได้ แต่ไม่ว่าจะทำอะไรผลก็ออกมาเหมือนเดิม ร้อยละ 5.60 ไม่ระบุ/ไม่สนใจ
อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27 – 28 พฤษภาคม 2558