ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.04 ระบุว่าให้ใช้ระบบตามรัฐธรรมนูญ 2550 คือมี ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตละ 1 คน (One Man One Vote) และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อโดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง (ข้อเสนอของรัฐบาล) รองลงมา ร้อยละ 26.48 ระบุว่า ให้มี ส.ส. จำนวน 500 คน โดยแบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน แต่ละเขตมี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 2 – 3 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน (ข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ขณะที่ร้อยละ 21.04 ระบุว่า ให้มี ส.ส. จำนวน 450 – 470 คน โดยแบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 250 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (Open List) ไม่น้อยกว่า 200 – 220 คน (ข้อเสนอของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สนับสนุนโดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอที่มาของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.48 ระบุว่า ให้มี ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 2 คน (ข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ) รองลงมา ร้อยละ 25.04 ระบุว่า ให้มี ส.ว. จำนวนไม่เกิน 200 คนซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากรายชื่อที่ได้รับการคัดกรองมาแล้วในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และที่เหลือจะมาจากการเลือกกันเองและการสรรหาจากกลุ่มต่างๆ เช่น อดีตข้าราชการระดับสูง องค์กรวิชาชีพ ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ (ข้อเสนอของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลไม่ขอแก้ไข) ร้อยละ 12.56 ระบุว่า ให้มี ส.ว มาจากการสรรหาทั้งหมดโดยให้มีการแบ่งกลุ่มอาชีพให้ชัดเจน (ข้อเสนอของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ)
อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 3-4 มิ.ย.58