เนื่องจากเวลานี้น้ำในเขื่อนเหลือน้อยเพราะฝนตกต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง เมื่อปี 57 ฝนตกน้อยปีนี้ก็ยังน้อยกว่าปี 57 โดยภาคเหนือฝนต่ำกว่าเกณฑ์ 55% ภาคกลางฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 69% และน้อยกว่าปี 57 ซึ่งเป็นปีที่ฝนตกน้อย ปีนี้ก็ยังน้อยกว่าปี 57 และขณะนี้ถึงฤดูกาลเพาะปลูกของพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาแล้วซึ่งใช้น้ำจากเขื่อนทำให้เกิดความเสี่ยงน้ำในเขื่อน โดยวันนี้น้ำในเขื่อนเหลือ 1,470 ล้านลบ.ม. ปล่อยวันละ 62 ล้านลบ.ม. เพราะฉะนั้นน้ำที่มีในเขื่อนจะใช้ได้ประมาณ 20 วัน
"ต้องรีบนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมอุตุนิยมวิทยา และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อประเมินสถานการณ์ว่า 1.ฝนเป็นอย่างไร ถ้าอนาคตฝนไม่ดี ตกไม่สม่ำเสมอ น้ำในอ่างใช้ได้อีก 20 กว่าวันก็คงจะหมด จึงจำเป็นต้องมาหารือกันว่าน้ำที่เหลืออยู่น้อยนิดต้องเตรียมไว้สำหรับใช้อุปโภคบริโภคก่อน และการรักษาระบบนิเวศน์ ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ แต่รายทางที่น้ำไหลผ่านตั้งแต่จังหวัดตาก อุตรดิตถ์ ลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด เราต้องการให้คนมีน้ำกินน้ำใช้ก่อน" นายสุเทพ กล่าว
ทั้งนี้ พื้นที่การเกษตรในลุ่มเจ้าพระยาอาจจะได้รับผลกระทบแน่นอน ต้องเลื่อนการเพาะปลูก ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน ส่วนพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 2.8 - 3 ล้านไร่ก็อาจจะได้รับกระทบด้วย เพราะเราจำเป็นต้องประหยัดการใช้เพื่อประคองสถานการณ์ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่
"แต่เรายังมั่นใจว่าจะมีฝนตกบ้างเล็กน้อย ซึ่งก็ต้องเตรียมเครื่องสูบน้ำเตรียมไว้ช่วยเกษตรกร ตรงไหนมีน้ำก็สูบไปเสริมให้เกษตรกร....ตามฤดูกาลบ้านเราฝนจะทิ้งช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายนต่อเนื่องถึงกลางเดือนกรกฎาคมหรือบางครั้งทิ้งช่วงไปถึงอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนกรกฎา และจะมีฝนเข้ามาสม่ำเสมอใหม่ในช่วงปลายกรกฎาคมถึงสิงหาคมและกันยายน...แปลว่าจากช่วงนี้ไปจนถึงประมาณอาทิตย์ที่ 3 ของกรกฎาคมเป็นช่วงวิกฤต"รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว