สศก.เผยรบ.เตรียมมาตรการสร้างรายได้ช่วยเหลือชาวนา หลังน้ำในเขื่อนไม่พอปลูกข้าว

ข่าวทั่วไป Wednesday June 10, 2015 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ออกประกาศประกาศงดส่งน้ำ สำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในพื้นที่จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแนะนำถึงปลูกพืชฤดูแล้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 นั้น ปรากฏว่า ยังมีชาวนาที่ฝ่าฝืนประกาศทำนาปรังไปรวมกว่า 6.87 ล้านไร่ทั้งนอกเขตและในเขตชลประทาน จากที่กำหนดไว้แค่ประมาณ 2 ล้านไร่ (นอกเขตชลประทาน) โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาในเขตชลประทานที่ให้งดทำนาปรัง พบว่ามีการปลูกถึง 3.78 ล้านไร่ จึงส่งผลให้การใช้น้ำในเชื่อนหลัก ทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีการใช้น้ำรวมทั้งสิ้น 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้เหลือน้ำในเขื่อนสำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปีระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมนี้ เพียงประมาณ 3,800 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในเรื่องดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กอปรกับปริมาณน้ำฝนของภาคกลางและภาคเหนือในปีนี้ที่คาดว่าจะต่ำกว่าเกณฑ์ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดกิจกรรมการทางการเกษตรที่เคยดำเนินการไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม เพื่อรอปริมาณน้ำฝนและน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณเพียงพอต่อการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาดำเนินกิจกรรมด้านอื่นๆ เช่น การเรียนรู้นวัตกรรมและองค์ความรู้ทางการเกษตรใหม่ๆ หรือผ่านศูนย์เรียนรู้การเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ 882 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะมีกิจกรรมให้เกษตรกรได้เลือกทั้งการเรียนรู้ฟาร์มตัวอย่าง แปลงสาธิต การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ องค์ความรู้ด้านเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น โดยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะมีการจัดทำโครงการต่างๆเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของเงินทุนหมุนเวียนนั้นที่รัฐบาลได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาทั่วประเทศที่ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ประมาณ 60,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในมาตรการต่างๆ เช่น การลดต้นทุนการผลิต การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิต และให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้สหกรณ์การเกษตรและสถาบันเกษตรนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อ GDP ภาคเกษตรที่ลดลง ในช่วงระยะเวลาที่ขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการดำเนินกิจกรรมทางเกษตรไปจึงถึงต้นเดือนสิงหาคม 2558

ทั้งนี้ ภาครัฐได้มีแนวทางช่วยเหลือและมาตรการรองรับอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และแนวทางการลดค่าใช้จ่าย รวมทั้ง ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเตรียมแผนการช่วยเหลือแล้วในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ