กรมชลฯ เพิ่มประสิทธิภาพจัดหาน้ำภาคตอ. คาดรองรับความต้องการใช้ได้ 20 ปี

ข่าวทั่วไป Thursday June 11, 2015 11:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถถึงบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกว่า จะมีลักษณะเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงแหล่งน้ำ ประกอบไปด้วย อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง และขนาดกลาง 8 แห่ง รวม 11 แห่ง ความจุที่ระดับเก็บกักรวมกัน 702 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น โครงข่ายในเขตจ.ชลบุรี มีทั้งหมด 7 อ่างฯ ใช้อ่างเก็บน้ำบางพระเป็นหลัก ในการจ่ายน้ำให้กับจ.ชลบุรีและจ.ฉะเชิงเทรา ส่วนในเขตจ.ระยอง ประกอบไปด้วยเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ 4 อ่างฯ มีอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลเป็นหลัก โดยมีอ่างเก็บน้ำประแสร์เป็นอ่างฯสำรอง เพื่อจ่ายน้ำให้กับจ.ระยองและจ.ชลบุรี ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่จ.ระยองและชลบุรี มีความต้องการใช้น้ำรวมกันประมาณ 657 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ในขณะที่ความสามารถในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมั่นคงประมาณ 560 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ยังขาดปริมาณน้ำอีกประมาณ 90 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ปัจจุบันกรมชลประทานกำลังดำเนินการจัดหาน้ำเพิ่มเติม โดยมีแนวทางในการดำเนินการ 2 แนวทาง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายน้ำ และการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักของอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายน้ำ ในพื้นที่จ.ชลบุรี มีโครงการที่กำลังดำเนินการคือ โครงการสถานีสูบน้ำพานทอง เพื่อสูบน้ำจากคลองชลประทานพานทอง ส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ มีแผนก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2560 ส่วนในพื้นที่ จ.ระยอง มีโครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้างคือ การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล โดยบมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2558

2. การเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 92 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำประแสร์ มีแผนแล้วเสร็จในปี 2558 ส่วนอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลและอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จะเริ่มดำเนินการและมีแผนแล้วเสร็จในปี 2559 ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการเพิ่มความจุให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยการเพิ่มความสูงของระดับเก็บกักน้ำขึ้นอีก 1 เมตร ทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร มีแผนดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2558

นอกเหนือจากงานที่ได้กล่าวมาข้างต้น กรมชลประทาน ยังมีโครงการสำคัญๆที่กำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง และอ่างเก็บน้ำพระสทึง จ.ปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำประแกด จ.จันทบุรี ซึ่งในระยะยาว กรมชลประทานได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำตามศักยภาพของพื้นที่ เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1.28 ล้านไร่

สำหรับงานตามยุทธศาสตร์ป้องกันอุทกภัยที่สำคัญ ได้แก่ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปกว่าร้อยละ 82 โดยในปี 2558 กรมชลประทาน ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมในส่วนของโครงการศึกษาความเหมาะสมบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในแม่น้ำปราจีนบุรี รวมไปถึงแผนงานที่กำลังจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจในเขตอ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรีด้วย

“ในปีงบประมาณ 2558 กรมชลประทานได้รับงบประมาณ จำนวน 2,217 ล้านบาท สำหรับดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำในภาคตะวันออกทั้งหมด 591 โครงการ ซึ่งมีโครงการประเภทต่าง ๆ อาทิ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำ ขุดลอกลำน้ำ สร้างฝายทดน้ำ ก่อสร้างระบบส่งน้ำชลประทาน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 265 โครงการ สำหรับแผนการแก้ไขปัญหาที่เป็นโครงการระยะกลางและระยะยาวที่สำคัญ มีแผนพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด อย่างเช่น อ่างเก็บน้ำวังโตนด อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ เป็นต้น ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้จะสามารถรองรับความต้องการใช้น้ำในภาคตะวันออกได้ถึง 20 ปี”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ