นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2556 ยังไม่พบผู้ป่วย ในปี 2557 ได้คัดกรองผู้ที่มีอาการป่วย 66 คน และปี 2558 พบผู้ที่มีอาการป่วยหลังเดินทางกลับจากตะวันออกกลาง 11 คน และประเทศเกาหลีใต้ 9 คน อยู่ที่กทม. 4 คน มหาสารคาม 2 คน นครปฐม สมุทรปราการ และลำปาง จังหวัดละ 1 คน ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการไม่พบติดเชื้อไวรัสชนิดนี้
ทั้งนี้ต่อปีจะมีคนไทยเดินทางไปเกาหลีใต้ประมาณ 40,000 คน และมีนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้มาไทยวันละประมาณ 3,000 – 4,000 คน ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้กำลังเผชิญปัญหาการแพร่ระบาด มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศซาอุดิอาระเบีย สถิติการป่วยจนถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2558 ผู้ป่วยรวม 122 คน เสียชีวิต 10 ราย จุดแพร่ระบาดอยู่ที่โรงพยาบาล โดยสถานการณ์ทั่วโลกตั้งแต่ 2555 เป็นต้นมา ถึง 7 มิถุนายน 2558 ยืนยันผู้ติดเชื้อ 1,211 ราย เสียชีวิตรวม 492 ราย อัตราป่วยตายทั่วโลกร้อยละ 40 โรคนี้ยังไม่มียารักษา ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
ทางด้านนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า การที่ต้องออกประกาศให้โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ 2523 จะมีผลดีต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันโรคโดยกำหนดให้โรคนี้เป็นโรคที่ต้องแจ้งความภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่แจ้งความมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โรงพยาบาลและคลินิกทุกแห่ง หากพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายติดเชื้อโรคนี้ คือ มีไข้สูง ไอ หายใจหอบ มีประวัติเดินทางจากระเทศที่มีการระบาดหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการเช่นเดียวกันในช่วง14 วัน จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว และเข้าสู่ระบบการป้องกันควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขทุกราย พร้อมกันนี้กรมควบคุมจะประชุมร่วมกับสายการบินทุกแห่ง บริษัททัวร์ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในมาตรการป้องกันโรคนี้เป็นมาตรฐานเดียวกันเป็นการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนไทย