"ปีนี้ภัยแล้งระดับ 4-5 แต่ยังดีกว่าปี 35 ปี 40-41 ที่น้ำจะไหลลงอ่างฯ น้อยกว่านี้....ตั้งแต่ต้นพฤษภาคมปีนี้น้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ไหลลงอ่างฯ 219 ล้านลบ.ม.จากปกติจะต้องไหลลงอ่างฯ 900 กว่าล้านลบ.ม.และเพิ่มขึ้นทุกวัน"
จากการที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าฝนจะตกลงมาเล็กน้อยในช่วงที่จะถึงนี้ และจะตกน้อยหรือไม่ตกเลยจนกระทั่งปลายเดือนกรกฎาคม ลักษณะเช่นนี้คงจะไม่มีน้ำมาเติมอ่างฯ ถ้าใช้อย่างเดียวก็จะหมดอย่างรวดเร็ว และจะเสียหายทั้งระบบ
สำหรับปริมาณน้ำในอ่างฯที่มีขณะนี้ 1,400 ล้านลบ.ม.หากใช้ในอัตราปกติและไม่มีฝนเลยน่าจะใช้ได้ประมาณ 20 วัน เราจึงต้องปรับแผนบริหารจัดการน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์และพื้นที่ที่ปลูกพืชไปแล้ว 2.8 ล้านไร่ รวมประมาณ 30-35 ล้านลบ.ม./วัน จนถึงช่วงที่ฝนจะตกชุกในเดือนกรกฎาคมหรือประมาณ 40 วันนับจากนี้
ส่วนลุ่มเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวหรือพืชใดๆ ซึ่งเดิมเราวางแผนปลูกข้าว 7.4 ล้านไร่ และพืชอื่นๆอีก รวมทั้งหมด 8 ล้านกว่าไร่ก็คงต้องให้ชะลอการปลูกก่อน เพราะน้ำไปไม่ถึง
"เราคงไม่มีมาตรการออกมาใช้กับชาวนาที่ละเมิดคำขอร้องจากกรมชลประทานลักลอบปลูกข้าวปลูกพืชในช่วงนี้ แต่พยายามขอความร่วมมือจากฝ่ายปกครอง ทหาร กอ.รมน. จัดรอบเวรส่งน้ำสำหรับภารกิจที่กล่าวไปแล้ว" นายเลิศวิโรจน์ กล่าว
ล่าสุด ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก อยู่ที่ 30% เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ อยู่ที่ 38% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี อยู่ที่ 10%
ด้านนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ได้ประเมินค่าเสียโอกาสของการหมุนเวียนเม็ดเงินการปลูกข้าวนาปี 2558 ในเขตลุ่มเจ้าพระยา หลังจากที่กรมชลประทาน ได้ประกาศเรื่องขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมาเนื่องจากฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอ โดยพบว่ามีค่าเสียโอกาสรวม 60,171.93 ล้านบาทแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1.ช่วงเริ่มเพาะปลูก ที่ต้องมีค่าจ้างแรงงาน และค่าพันธุ์ จำนวน 25,576.67 ล้านบาท 2.ช่วงดูแลบำรุงรักษาต้นข้าว ซึ่งต้องลงทุนใส่ปุ๋ยและสารเคมีเกษตร 20,221.47 ล้านบาทและ 3.ช่วงเก็บเกี่ยว และขนส่ง เป็นเงิน 14,373.79 ล้านบาท