ทั้งนี้ จากการตั้งสมมุติฐานปริมาณน้ำฝนความต้องการใช้ และความสามารถในการเก็บกัก ในปัจจุบันและอนาคต พบว่า ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากรน้ำก็จริง แต่ไม่สามารถจัดเก็บได้ โดยในปี 2557 ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 285,230 ล้านลบ.ม. จากปริมาณความต้องการใช้น้ำทั้งการอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศ อุตสาหกรรมและภาคเกษตร รวมประมาณ 151,750 ล้านลบ.ม. ซึ่งระบบชลประทานที่เก็บกักไว้สามารถจัดสรรได้เพียง 102,140 ล้านลบ.ม. และมีความต้องการน้ำที่รัฐบาลไม่สามารถจัดหาให้ได้อีก 49,610 ล้านลบ.ม.
ขณะที่การคาดการณ์ในปี 2570 ในปริมาณน้ำฝนที่เท่ากับปี 2557 พบว่า ความต้องการน้ำใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 156,820 ล้านลบ.ม. มีความต้องการที่จัดการได้ 111,620 ล้านลบ.ม. และมีความต้องการน้ำที่รัฐบาลไม่สามารถจัดหาให้ได้อีก 45,200 ล้านลบ.ม. สำหรับโครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล และ โครงการโขง เลย ชี มูล เป็นเรื่องเร่งด่วน โดยนายกฯ ได้สั่งการมายังกรมชลประทานให้เร่งทำยุทธศาสตร์ให้เกิดขึ้นได้ภายในรัฐบาลนี้ ซึ่งเป็นโครงการเพิ่มเติมจากโครงการปกติของปีงบประมาณ 2558-2559 ซึ่งใช้งบประมาณเพิ่มเติม 2.8 หมื่นล้านบาท จากงบประมาณปกติที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้วในปี 2558 ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และงบประมาณปี 2559 กำหนดไว้อีกประมาณ 3 หมื่นล้าน หรือรวม 2 ปีงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการน้ำแล้วประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท
นายสมเกียรติ กล่าวว่า 2 โครงการจะเป็นโครงการที่ใช้ระบบการผันน้ำ โดยสูบน้ำในภาคเหนือและภาคอีสาน มาเก็บไว้ในระบบท่อ และมีการหมุนเวียนเหมือนระบบโลหิต โดยโครงการโขง เลย ชี มูล จะมีการสูบน้ำจากจังหวัดเลยเข้ามาใช้ในภาคอีกสานผ่านท่อขนาดใหญ่ 2 ขนาด คือกว้าง 10 เมตร ยาว 50 กิโลเมตร จำนวน 1 ท่อ และ ท่อกว้าง 10 เมตร ยาว 80 กิโลเมตร จำนวน 1 ท่อ โดยในปี 2558-2559 จะดำเนินการในเฟสแรกก่อนมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท หากทำเสร็จจะทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีกสานได้อีกประมาณ 30 ล้านไร่ มีน้ำเพียงพอ พัฒนาอุตสาหกรรม การบริการ การท่องเที่ยว และสร้างงานได้ คนอีสานจะไม่เข้ามาในเมืองหลวงแน่นอน โดยการดำเนินการจะไม่ใช้น้ำนานาชาติ แต่จะใช้น้ำในไทย เพราะในแต่ละปีน้ำในไทยมีจำนวนมหาศาล แต่ไทยไม่สามารถเก็บเข้าเขื่อน หรือเก็บในอ่างได้ จำเป็นต้องทำระบบบริหารจัดการเพื่อเก็บน้ำ
ขณะที่ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2558-2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อ 7 พ.ค. 2558 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ตามลำดับความสำคัญ คือ 1. การจัดการน้ำเพื่ออุปโภค 2.การสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิต (เกษตร/อุตสาหกรรม) 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป้องกันการพังทลายของดิน 6.การบริหารจัดการ โดยยุทธศาสตร์น้ำเพื่อการอุปโภคในปี 2560 ประเทศไทยต้องมีกินน้ำใช้ที่สะอาดให้ทุกหมู่บ้าน มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อผู้บริโภคให้แก่ชุมชน หมู่บ้าน รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เริ่มจากพื้นที่วิกฤต เช่น ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำปิง ซึ่งมีการขยายขุมชนเมืองจำนวนมาก โดยจะจัดหาประปาเพื่อเติมให้ 9,535 หมู่บ้านทั่วประเทศไทยภายในปี 2560 เนื่องจากขณะนี้กว่า 10% ของหมู่บ้านทั้งหมดในประเทศไทยยังเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภ
สิ่งสำคัญคือกรมชลประทานต้องเร่งหาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการบริโภคอุปโภคและสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งเพื่อเริ่มดำเนินการโครงการ คือ การสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิต (เกษตร/อุตสาหกรรม) แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ส่วนดังนี้ คือ 1.การพัฒนาพื้นที่เกษตรชลประทานปัจจุบัน 30.22 ล้านไร่ อยู่ในการดูแลของกรมชลประทานประมาณ 25 ล้านไร่ ยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการเดิม เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ คาดหวังว่าจะได้น้ำต้นทุกเพิ่มขึ้น 250 ล้านลบ.ม.นอกจากนี้ต้องรณรงค์เพื่อการประหยัดน้ำ ทำให้มีการสูญเสียนำให้น้อยลง 2.พัฒนาพื้นที่มีศักยภาพชลประทานเพิ่มเติม 18.8 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ในส่วนนี้จะเป็นการเปลี่ยนโฉมเกษตรน้ำฝนเป็นเกษตรชลประทานให้ได้ ซึ่งต้องมีการผันน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ก็จำเป็นต้องทำ อาทิ โครงการโขง เลย ชี มูล เพื่อเพิ่มน้ำเข้ามาใช้ในภาคอีสานประมาณ 40,000 ล้าน ลบ.ม. มีมูลค่าโครงการ 2.2 ล้านล้านบาท อายุโครงการ 20 ปี
3. พัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน 100 ล้านไร่ โดยการเร่ง ขุดสระ สระในไร่นา ผันน้ำ น้ำบาดาล ในกลุ่มนี้จะเป็นการหาแหล่งน้ำเป็นโครงการเล็กๆ ไม่ต้องลงทุนมาก และ 4.จัดหาน้ำต้นทุนเพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบริการ และเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งต้องดำเนินการคู่กัน เพราะในแต่ละปีไทยต้องใช้น้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มประมาณปีละ 2,700 ล้านลบ.ม.ซึ่งคิดแล้วเท่ากับเขื่อนขนาดใหญ่ประมาณ 3 เท่า หากไม่เร่งหากน้ำเพื่อกิจการเหล่านี้ ปีนี้ กทม.และปริมณฑล มีปัญหาน้ำกร่อยแน่นอน
ที่สุด 6 ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำภายใน 12 ปี ก็คลอดออกมา ภายใต้หลักการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำอย่างบูรณาการและยั่งยืน ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อขจัดปัญหาการขาดแคลนน้ำ อุทกภัย และคุณภาพน้ำในอนาคต