ทั้งนี้ แม้ฤดูฝนปี 2558 จะเริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่ปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 55 ในพื้นที่ภาคเหนือ และน้อยกว่าค่าปกติมากถึงร้อยละ 69 ในพื้นที่ภาคกลาง ส่งผลให้ไม่มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-11 มิถุนายน 2558 มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลเพียง 4 ล้านลบ.ม. เท่านั้น น้อยที่สุดในรอบ 51 ปี หรือตั้งแต่มีการเก็บกักน้ำมา ขณะที่มีความต้องการใช้น้ำจากเขื่อนจำนวนมากเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ซึ่งเริ่มทำการเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นมา ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับวิกฤต ปัจจุบัน เหลือปริมาณน้ำใช้งานได้เพียง 410 ล้านลบ.ม. ไม่สามารถระบายน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากปริมาณน้ำส่วนนี้ต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ
ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ แม้จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนบ้างแต่อยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากถึงร้อยละ 46 ลดลงในระดับวิกฤต เหลือปริมาณน้ำใช้งานได้ 779 ล้านลบ.ม. สามารถระบายน้ำเพื่อการเกษตรได้บางส่วนเท่านั้น
จากสถานการณ์น้ำแล้งดังกล่าว ประกอบกับการคาดการณ์สภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งปีนี้ปริมาณฝนในภาพรวมจะน้อยกว่าค่าปกติและน้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งมีรองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธาน และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัดสินใจให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปี ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อนจนกว่าจะมีฝนตกชุกตามปกติ และให้ปรับลดการใช้น้ำจากเขื่อนทั้งสี่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาลง เพื่อประคองปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ให้สามารถระบายเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดจนเจียดจ่ายน้ำบางส่วนให้กับพื้นที่นาที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้วได้เพียงพอในช่วง 40 วันหรือจนกว่าจะมีปริมาณฝนธรรมชาติเพียงพอ สำหรับเขื่อนภูมิพลมีการปรับลดการระบายน้ำจากวันละ 22 ล้าน ลบ.ม. ลงเหลือวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ มีการปรับลดการระบายน้ำจากวันละ 33 ล้าน ลบ.ม. ลงเหลือวันละ 22 ล้าน ลบ.ม.
“สถานการณ์น้ำของเขื่อนทั้งสองนับว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำในอ่างฯ และปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ซึ่งในอดีตเขื่อนทั้งสองเคยมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ต่ำสุดในปี 2535 ซึ่งจากสถานการณ์น้ำดังกล่าว คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร ปฏิบัติตามข้อแนะนำของกรมชลประทาน และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้สามารถผ่านพ้นช่วง 40 วันนี้ไปได้"
อนึ่ง เขื่อนของ กฟผ. ทุกเขื่อนเป็นเขื่อนเอนกประสงค์ มีหน้าที่กักเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรกรรม และการอุปโภคบริโภค ส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ทั้งนี้ การระบายน้ำจากเขื่อนเป็นไปตามการควบคุมของคณะกรรมที่กำกับดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อพิจารณาตัดสินใจบริหารน้ำร่วมกันอย่างใกล้ชิด