ผู้ว่า กทม.ตรวจประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองทรงกระเทียม-การเก็บขยะชิ้นใหญ่

ข่าวทั่วไป Sunday June 14, 2015 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสัญญา ชีนิมิตร ปลัดกรุงเทพมหานคร นายอดิศักดิ์ ขันตี รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายกังวาฬ ดีสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ตรวจประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองทรงกระเทียม ซึ่งคลองดังกล่าวมีสถานีสูบน้ำ 2 แห่ง สูบน้ำจากพื้นที่เขตลาดพร้าว เขตวังทองหลาง ถนนลาดพร้าว ซอยโชคชัย 4 และบ้านพักอาศัยที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อระบายน้ำสู่คลองลาดพร้าวและคลองจั่น

ทั้งนี้ แต่เดิมคลองทรงกระเทียมเป็นพื้นที่ต่ำ ตื้นเขิน และเป็นแอ่ง ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้เองตามธรรมชาติ อีกทั้งยังมีความลึกไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำ เมื่อมีปริมาณน้ำจำนวนมากในช่วงฤดูฝน ทำให้น้ำไหลระบายออกจากพื้นที่ได้ช้า ขณะเดียวกันกทม.ไม่สามารถดำเนินการขุดลอกคลองได้ลึกเพื่อให้การไหลของน้ำเป็นไปได้สะดวก เนื่องจากตลิ่งจะพังทลายและกระทบบ้านเรือนประชาชนที่ตั้งอยู่ริมคลอง ปัจจุบันกทม. ได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) และสถานีสูบน้ำ ตลอดแนวคลองทรงกระเทียม จากซอยโชคชัย 4 ถึงคลองจั่น โดยดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือน มี.ค.54 และแล้วเสร็จเมื่อ ธ.ค.57 มีสถานีสูบน้ำ 2 แห่งขนาดกำลังสูบ 7 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สูบน้ำจากคลองทรงกระเทียมออกสู่คลองลาดพร้าว ซึ่งเป็นคลองสายหลักในพื้นที่ และสถานีสูบน้ำขนาดกำลังสูบ 9 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สูบน้ำออกสู่ด้านปากคลองจั่น ซึ่งช่วยเร่งลำเลียงน้ำออกจากพื้นที่ได้สะดวกยิ่งขึ้น แก้ปัญหาตลิ่งพังทลาย แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง สะดวกในการดูแลรักษา และลดความเดือดร้อนของประชาชน

สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) และสถานีสูบน้ำ ตลอดแนวคลองทรงกระเทียม เป็น 1 ใน 15 โครงการพัฒนาระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณเขตวังทองหลาง ลาดพร้าว บึงกุ่ม และบางกะปิ ภายใต้นโยบายการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ อีกทั้งมีการพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการก่อสร้างหมู่บ้าน ห้างสรรพสินค้าจำนวนมาก อีกทั้งมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคตเพื่อรองรับการเติบโตของเมือง เป็นผลให้ที่ว่างซึ่งเคยเป็นที่รับน้ำหายไป และทำให้คลองต้องรับภาระในการระบายน้ำเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำดำเนินโครงการเพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลอง ซึ่งถือเป็นระบบหลักในการลำเลียงน้ำด้วยการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล.และสถานีสูบน้ำ ในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา รวมจำนวน 15 โครงการ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 4 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 8 โครงการ และอยู่ในแผนงานจำนวน 3 โครงการ

ทั้งนี้ กทม.ได้พัฒนาระบบการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาเมืองรวมถึงบรรเทาความเดือดร้อนและลดความกังวลใจของประชาชนต่อปัญหาน้ำท่วมขัง อย่างไรก็ตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กันไปในหลายมิติ ทั้งการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบ่อสูบน้ำและการระบายน้ำในคลองสายต่างๆ รวมถึงท่อระบายน้ำ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เดินทางไปติดตามการรณรงค์จัดเก็บขยะและนัดวันทิ้งของเหลือใช้และขยะชิ้นใหญ่ บริเวณวัดลาดพร้าว ซี่งที่ผ่านมาพบว่าขยะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การะบายน้ำล่าช้า ส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบระบายน้ำกรุงเทพมหานคร เมื่อฝนตกหนักจะมีขยะไหลตามกระแสน้ำไปติดหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ โดยเฉพาะขยะชิ้นใหญ่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ยางรถยนต์ โอ่ง ทีวี ตู้เย็นเก่า ไม่เว้นแม้แต่ขยะชิ้นเล็กที่ลอดผ่านตะแกรงเข้าไปติดใบพัดเครื่องสูบน้ำทำให้ประสิทธิภาพการสูบน้ำลดลง บางครั้งทำให้เครื่องหยุดการทำงานต้องใช้เวลาในการแก้ไขระยะหนึ่ง แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรุงเทพมหานครจะดำเนินการจัดเก็บขยะทุกวัน อีกทั้งกำหนดวันจัดเก็บสิ่งของเหลือใช้และขยะชิ้นใหญ่เป็นประจำทุกเดือน รวมถึงดำเนินโครงการรณรงค์ต่างๆ เพื่อรณรงค์ไม่ให้ประชาชนทิ้งขยะลงแม่น้ำคูคลองมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม

สำนักสิ่งแวดล้อมจึงได้ปรับกลยุทธ์และจัดทำแผนร่วมกับ 50 สำนักงานเขตในการจัดเก็บขยะให้เข้มข้นขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขยะในพื้นที่ต่างๆ ให้ดีขึ้น รวมถึงลดอุปสรรคต่อระบบการระบายน้ำ โดยดำเนินการแก้ปัญหาขยะจากต้นทาง 3 แหล่งที่เป็นอุปสรรคการระบายน้ำไม่ให้ตกค้างในพื้นที่ ได้แก่ ขยะใต้ถุนบ้านในชุมชนและบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา ขยะที่ประชาชนที่ทิ้งลงในคลองสายต่างๆ และขยะชิ้นใหญ่ โดยให้ทุกเขตสำรวจจำนวนชุมชนและบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมน้ำแม่น้ำและริมคลองทุกแห่งในพื้นที่ ประสานงานกับชุมชนเพื่อเข้าจัดเก็บขยะตกค้างบริเวณใต้ถุนบ้าน เนื่องจากบ้านเรือนบางแห่งจัดเก็บได้ยาก ต้องเปิดไม้กระดานบ้านแล้วจึงจะลากขยะออกมาได้ จากนั้นให้เขตรายงานการดำเนินงานเบื้องต้นให้สำนักสิ่งแวดล้อมเพื่อรวบรวมและรายงานต่อผู้บริหารทราบภายในวันที่ 22 มิ.ย.58 เฝ้าระวังและตรวจสอบไม่ให้มีการทิ้งขยะในแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น คู คลอง แม่น้ำ และให้สำนักงานเขตออกตรวจพื้นที่ รวมถึงดำเนินมาตรการทางกฎหมาย และสร้างวินัยแก่ชุมชนในการทิ้งขยะให้ถูกที่ พร้อมรายงานผลการดำเนินงานทุกเดือน

นอกจากนี้ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ยังได้หมุนเวียนเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาด 50 เขตสนับสนุนการทำงานของสำนักการระบายน้ำ เช่น ดำเนินการเปิดทางน้ำไหล จัดเก็บวัชพืช และขยะในคูคลองร่วมกันทุกวันเสาร์ จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดสนับสนุนการจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงบริเวณสถานีสูบน้ำ และประตูระบายน้ำทุกแห่ง เฝ้าระวังไม่ให้มีขยะกีดขวางหน้าตะแกรงและฝาท่อระบายน้ำบนผิวจราจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแจ้งเตือนจะมีฝนตกในพื้นที่ให้เร่งเข้าประจำจุดเพื่อเตรียมพร้อมเป็นการล่วงหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ