ก.เกษตรฯ เร่งทำฝนหลวงพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง-เติมน้ำในเขื่อน

ข่าวทั่วไป Thursday June 18, 2015 10:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเน้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีโดยมุ่งเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอสำหรับการหล่อเลี้ยงพืชฤดูแล้งที่กำลังจะให้ผลผลิต และการเริ่มต้นเพาะปลูกข้าวนาปี
"ขณะนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วย ซึ่งกระจายครอบคลุม 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้เร่งระดมทำฝนหลวงอย่างเต็มที่ โดยตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2558 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มีผู้ร้องขอฝนหลวงผ่านศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคกว่า 320 ราย ใน 235 อำเภอ 58 จังหวัด และฝูงบินฝนหลวงได้มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 104 วัน 2,728 เที่ยวบิน มีฝนตก 103 วัน และมีรายงานฝนตกรวม 70จังหวัด"ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

ด้านนายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงฯได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วยเร่งทำฝนหลวงเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง พร้อมกับปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด โดยให้หน่วยฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่เร่งปฏิบัติการเติมน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่งัด เขื่อนแม่กวง หน่วยลฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลกรับผิดชอบพื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรีรับผิดชอบเติมน้ำให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา และหน่วยฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรีให้เร่งเติมน้ำให้เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนท่าทุ่งนา หน่วยฝนหลวงขอนแก่นรับผิดชอบเขื่อนอุบลรัตน์ หน่วยฝนหลวงนครราชสีมารับผิดชอบเติมน้ำให้เขื่อนลำตะคอง ลำพระเพลิง จุฬาภรณ์ หน่วยฝนหลวงอุบลราชธานีรับผิดชอบเติมน้ำให้เขื่อนสิรินธร สำหรับหน่วยฝนหลวงจังหวัดระยองให้เร่งปฏิบัติการเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่ง อาทิ อ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหล ประแสร์ และอ่างเก็บน้ำบางพระ

ส่วนหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนแก่งกระจาน และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี หน่วยฝนหลวงจังหวัดกระบี่รับผิดชอบเติมในน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 4-5 เขื่อนหลัก ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และอุบลราชธานี ต้องเร่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนเพื่อสำรองน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนเป็นต้น

“ผลปฏิบัติการฝนหลวงช่วงที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่ลุ่มน้ำในเขตภาคเหนือตอนบนมีฝนตกค่อนข้างดี อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แพร่ และน่าน แต่ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำยังมีน้อย เนื่องจากดินยังไม่อิ่มตัว ทำให้มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำไม่มากนัก มีบางพื้นที่ที่น้ำเริ่มไหลเข้าอ่างมากขึ้นแล้ว คือ เขื่อนสิริกิติ์ เนื่องจากมีฝนตกติดต่อกันหลายวัน"อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงฯ ได้สั่งการให้นำเทคนิคการทำฝนด้วยพลุสารดูดความชื้นที่วิจัยและพัฒนาร่วมกับกองทัพอากาศมาปฏิบัติการเสริมที่เชียงใหม่อีก 1 หน่วย และมีแผนเคลื่อนย้ายหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคใต้ที่ช่วยเหลือพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงจนได้รับน้ำฝนใกล้จะเพียงพอแล้ว ขึ้นไปตั้งที่จังหวัดแพร่ เพื่อช่วยเสริมการเติมน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ และเตรียมจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก เพื่อเสริมปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล โดยจะดำเนินการทันทีหลังสนามบินจังหวัดซ่อมแซมแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่า จะช่วยเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลได้โดยตรงและรวดเร็วขึ้น ซึ่งเบื้องต้นต้องเร่งสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นดินอิ่มตัวก่อน เมื่อฝนตกลงมาจะมีน้ำส่วนหนึ่งไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำ และทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนสะสมเพิ่มขึ้น

“พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือ พื้นที่ภาคกลางซีกตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ต่อเนื่องไปถึงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาค เนื่องจากยังได้รับปริมาณน้ำฝนน้อยในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่นี้จะมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเหมาะสมและเพียงพอที่จะทำฝนหลวงได้ในช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง" นายวราวุธ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ