และโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญอย่างเข้มงวด โดยประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขล่วงหน้า พร้อมแยกผู้ป่วยและญาติไม่ปะปนกับผู้อื่น มีมาตรการป้องกันควบคุมโรค รวมถึงส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการตามแนวทางที่กำหนด และตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก จึงได้ส่งต่อมารักษาที่สถาบันบำราศนราดูร เข้ารับการรักษาในห้องแยกโรค และตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันอีกครั้ง จากห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง ผลวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ได้ผลเป็นบวก ขณะนี้ผู้ป่วยยังรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร อาการทรงตัว
สำหรับการสอบสวนโรคติดตามผู้สัมผัสโรค 59 คน ขณะนี้ได้ดำเนินการติดตามรับตัวไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาลหรือให้สังเกตอาการที่บ้าน และเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบอาการทุกวัน ทั้งนี้ การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 ที่ได้ลงนามประกาศโรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตรายและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
สำหรับประชาชน อย่าได้ตระหนก ผู้ป่วยรายนี้เดินทางมาจากต่างประเทศ และประเทศเราตรวจจับได้เร็ว และระมัดระวังด้วยอยู่แล้ว ดังตัวอย่างประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ที่พบผู้ป่วยเร็วและควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้างได้ ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวให้งดเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด สำหรับประชาชนทั่วไป หากเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดขอให้อย่าคลุกคลีกับผู้ป่วย และเมื่อกลับประเทศไทยภายใน 14 วัน หากมีอาการ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ให้สวมหน้ากากป้องกันโรค ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที ความร่วมมือของประชาชนจะทำให้ประเทศเราควบคุมโรคนี้ได้ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
กระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลทั่วประเทศ เข้มระบบรองรับโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ให้แพทย์ บุคลากรอื่นๆ มีความรู้เกี่ยวกับโรค แม่นยำการตรวจวินิจฉัย ป้องกันตนเองให้ปลอดภัย และไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ด้วยการรักษาอนามัยส่วนบุคคล ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นความรวดเร็วในระบบตรวจจับโรค ทั้งทางบก อากาศ เรือ ที่มีระบบการป้องกันควบคุมโรค และการรักษาที่ได้มาตรฐานสากล
ขณะที่นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านวิดีโอเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคเมอร์ส โดยกำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ดำเนินการใน 5 มาตรการดังนี้
1.การซักประวัติผู้ป่วย ให้เข้มงวดขึ้น หากพบผู้มีไข้ ไอ ที่เดินทางมาจากตะวันออกกลาง เกาหลีใต้ ภายใน 14 วัน ให้ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้ รวมทั้งประสาน คลินิก โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสังกัดอื่นในพื้นที่ ให้เข้มงวดมาตรการนี้ด้วย หากพบผู้ป่วยดังกล่าวให้ส่งโรงพยาบาลในสังกัดที่มีห้องแยกโรคความดันต่ำทันที
2.ให้บุคลากรปฏิบัติงานด้วยความละเอียด รอบคอบ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล 3.ให้ความรู้แนวทางการดูแลผู้ป่วย แพทย์ทุกคนต้องมีความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยโรค บุคลากรต้องมีความรู้เรื่องนี้ ป้องกันตนเองไม่ให้ป่วย และทุกวันเวลาประมาณ 20.00-23.00น. ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและสาธารณสุขนิเทศก์ จะโทรศัพท์ไปตรวจสอบว่าแพทย์ที่อยู่ประจำห้องฉุกเฉิน มีความรู้ในเรื่องนี้ดีหรือไม่
4.ให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ในภูมิภาค ทำงาน 24 ชั่วโมง เพื่อให้วินิจฉัยได้รวดเร็วที่สุด 5.การเตรียมเครื่องมือป้องกันตนเองและผู้อื่น หากบุคลากรทางการแพทย์มีอาการป่วยจะต้องใส่หน้ากากป้องกันโรค เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม