อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานครได้มีการดำเนินการควบคุมการค้าสัตว์ประเภทร้านค้าสุนัข-แมวในพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร โดยในปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจำนวน 80 ราย ผู้ประกอบการค้าสุนัข-แมวเหล่านี้จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่กรมปศุสัตว์กำหนด ดังนี้ อันดับแรก ผู้ขออนุญาตจะต้องมีคอกกักสุนัข และแมวที่เหมาะสม ไม่แออัด มีระบบการถ่ายเทอากาศที่ดี มีที่ให้น้ำ อาหาร รวมทั้งการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่เหมาะสม นอกจากนี้ ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 โดยสุนัขที่อยู่ในครอบครองทุกตัวต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยสัตวแพทย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ตามระยะเวลาที่กำหนด และได้รับมอบเครื่องหมายประจำตัวสัตว์(เหรียญห้อยคอ) และใบรับรองการฉีดวัคซีน เพื่อแสดงว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
แต่อย่างไรก็ดีพบว่าในพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรนอกจากผู้ประกอบการค้าสุนัข-แมวที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการค้าสัตว์หรือซากสัตว์ (แบบ ร.10) ยังพบผู้ลักลอบค้าสุนัข-แมวที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งมักเป็นร้านค้าแบบไม่ถาวร (แผงลอย) โดยสุนัข-แมวของร้านค้าแบบไม่ถาวรนี้ก็มักจะไม่ได้รับการตรวจโรคติดต่อในสัตว์ และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนและการทำวัคซีนป้องกันโรคที่ถูกต้องจึงเป็นแหล่งพาหะนำโรคได้ จึงวิงวอนให้ประชาชนที่จะไปเลือกซื้อสุนัข-แมวในพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร หลีกเลี่ยงการซื้อสุนัข-แมวจากแหล่งเหล่านี้ และหากพบผู้ค้าที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการค้าสัตว์หรือซากสัตว์ (แบบ ร.10) สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เพื่อประสานไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ดำเนินการกวดขันจับกุมตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งผู้ค้าที่ไม่ได้รับใบอนุญาตเหล่านี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ท้ายนี้ กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือประชาชนทุกท่านพิจารณาการเลือกซื้อสุนัข-แมวในพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร เนื่องจากเป็นแหล่งรวมสัตว์ขนาดใหญ่ อาจทำให้สุนัข-แมวในพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรค ไข้หัดในสุนัข-แมวได้ รวมถึงให้ร่วมสังเกตอาการสุนัขในพื้นที่ หากพบสุนัขสงสัยป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันทีเพื่อเข้าตรวจสอบและดำเนินการควบคุมโรค