ในส่วนของ 2 เขื่อนใหญ่ กฟผ. มีมาตรการช่วยเหลือภัยแล้งแก่ประชาชน ดังนี้ เขื่อนภูมิพล ได้มีการสนับสนุนน้ำอุปโภค บริโภค ให้กับชุมชนในอำเภอสามเงา อำเภอบ้านตาก และ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก นอกจากนี้ กฟผ. ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนชาวจังหวัดตาก โดยเฉพาะชุมชนรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเครือข่ายคนรักษ์ป่า ได้ร่วมกันแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะยาว โดยตั้งเป้าหมายสร้างฝายชะลอน้ำ ภายในปี 2558 ให้ครบ 960 ฝาย เพื่อเป็นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน ที่ อำเภออมก๋อย อำเภอดอยเต่า อำเภอจอมทอง และดอยอินทนนท์ ที่เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งต้นน้ำลำธาร ทรัพยากรป่าไม้และแหล่งน้ำตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ทางเขื่อนมีการจัดตั้งคณะกรรมการ “คนรักษ์ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ" เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการร่วมมือกันบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากทุกภาคส่วน
ด้านเขื่อนสิริกิติ์ เตรียมรองรับสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือผู้ที่จะได้รับผลกระทบในเขตพื้นที่อำเภอท่าปลา และพื้นที่รอบเขื่อน โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามแผนการระบายน้ำเพื่อการเกษตรของกรมชลประทาน และแผนการจัดหาน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ดังนี้ 1) สูบน้ำเข้าคลองส่งน้ำชลประทาน เขื่อนดินช่องเขาขาด สูบได้วันละ 9,800 ลูกบาศก์เมตร และดำเนินการสูบน้ำเข้าจนกว่าระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์จะสูงกว่า 135.5 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง 2) จัดสรรรถบรรทุกน้ำ จำนวน 4 คัน เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ขาดแคลนน้ำได้ทันท่วงที ตามคำสั่งของศูนย์ปฏิบัติการฯจังหวัด (อ.ท่าปลา) 3) จัดจุดให้บริการน้ำสาธารณะ เขื่อนสิริกิติ์ จำนวน 4 จุด เพื่อเติมน้ำสำหรับรถบรรทุกน้ำให้กับหน่วยงานภายนอก สามารถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายได้เอง จุดเติมน้ำมีดังนี้ เขื่อนดินช่องเขาขาด 1 จุด และเขื่อนสิริกิติ์ 4 จุด 4) ขุดลอกและขยายสระน้ำ บ้านตีนดอย ต.หาดล้า อ.ท่าปลา เพื่อขยายพื้นรองรับน้ำและกักเก็บน้ำได้มากขึ้น จากเดิม 20,000 ลูกบาศก์เมตร เป็น 55,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งปรับปรุงให้มีสภาพดียิ่งขึ้น 5) ชี้แจงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ รวมไปถึงแผนการระบายน้ำให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำท้ายน้ำ ตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ได้รับทราบ เพื่อการวางแผนทำการเกษตร
ทั้งนี้ การระบายน้ำจากเขื่อน กฟผ. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการฯ ที่มีผู้แทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมวิเคราะห์รอบด้านก่อนตัดสินใจ กรณีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ มีคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งมีรองอธิบดีกรมชลประทานเป็นประธาน และมีคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 10 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักการระบายน้ำ กทม. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และ กฟผ. ร่วมกันติดตามและประเมินแนวโน้มสถานการณ์น้ำและวางแผนเก็บกักหรือระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์
“เขื่อนของ กฟผ. ทุกแห่งเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ มีหน้าที่กักเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรกรรม และการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น โดยเน้นทั้งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และระบายน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเกษตรกรรม และยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากให้กับพื้นที่ท้ายเขื่อนได้ในเวลาเดียวกัน" นายสุนชัย กล่าว