นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนยกระดับความมั่นคงและความเป็นเลิศด้านควบคุมโรคของประเทศ พ.ศ.2558-2562 เพื่อรองรับสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ ทั้งโรคอุบัติใหม่ โรคไม่ติดต่อจากพฤติกรรมเสี่ยง และโรคจากการประกอบอาชีพ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศโดยรวม เช่น การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในปี 2552 ที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ มากกว่า 28,000 ล้านบาท จีดีพีลดลงร้อยละ 0.1-0.3 ซึ่งไทยมีจุดแข็งในงานควบคุมโรค คือมีการวางรากฐานและพัฒนาระบบมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง มีทั้งโครงสร้างระบบบริการสาธารณสุขเป็นเครือข่ายระดับพื้นที่และชุมชนทั่วประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม ทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว และอาสาสมัครสาธารณสุขร่วมทำงานเฝ้าระวังโรค ความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ มาตรการทางกฎหมายที่สำคัญ เช่น พรบ.โรคติดต่อ และเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาภาคสนาม ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนสถานการณ์โรคเมอร์สในไทยขณะนี้ไม่มีผู้ป่วยโรคเมอร์สและไม่มีการแพร่กระจายเชื้อในประเทศ แต่ไทยยังคงมีความเสี่ยงจากการเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ ทั้งไปประกอบพิธีทางศาสนา ทำธุรกิจ ประกอบอาชีพ และท่องเที่ยวในพื้นที่ติดโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมระบบรองรับอย่างเข้มแข็ง ทั้งการเฝ้าระวังตรวจคัดกรองผู้เดินทางที่ด่านในทุกช่องทางเข้าออกประเทศ ความร่วมมือของชุมชน ทีมสอบสวนโรคในพื้นที่ระบบการวินิจฉัยและการรักษา ในโรงพยาบาล ห้องแยกโรค การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ
ทั้งนี้ คณะกรมการฯ ได้มีการประเมินการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ.2556–2559) ครึ่งแผน พบว่าทั้ง 5 กระทรวงหลัก สามารถแปลงแผนยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งมีกิจกรรมดำเนินการสอดคล้องกับแผนและยุทธศาสตร์ เช่น การเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน โรคอุบัติใหม่ ตรวจสุขภาพสัตว์ป่า ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่เสี่ยงซ้อมแผนเตรียมรับโรคติดต่ออุบัติใหม่ สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชน เป็นต้น