จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด 12 จังหวัด แยกเป็น ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 17 จันทบุรี และเขต 18 ภูเก็ต ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย กรณีสถานการณ์รุนแรงได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยของ 12 จังหวัดภาคตะวันออก และภาคใต้ ให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ลำธารเปลี่ยนสีเป็นสีขุ่นข้นหรือสีเดียวกับสีดินภูเขา ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ป่าต้นน้ำมากกว่า 100 มม. ต่อวัน เป็นต้น จะได้อพยพหนีภัยได้ทันท่วงที
ส่วนชาวเรือให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป