ในส่วนของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะทยอยลดการระบายน้ำวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเขื่อนภูมิพลจะลดจาก 8 ล้านลูกบาศก์เมตร/วันเหลือ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน สุดท้ายจะลดการระบายน้ำเหลือวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับลดลง 3 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน
ส่วนเขื่อนสิริกิติ์จะลดการระบายน้ำเหลือวันละ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับลดลง 6 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน เท่ากับ 2 เขื่อนลดการระบายน้ำลง 9 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม
"เราคงต้องหาแนวทางดำเนินการทุกวิธีแม้ว่าจะทำยาก ท้ายที่สุดถ้าฝนไม่มาตรงไหนมีน้ำก็ต้องเอามาใช้ ทั้งน้ำก้นอ่างก้นเขื่อน และน้ำบาดาล"นายทองเปลว กล่าว
ขณะนี้เขื่อนภูมิพลปล่อยน้ำในระดับ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน เขื่อนสิริกิติ์ ปล่อยน้ำระดับ 17 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน และน้ำจะหมดวันที่ 3 ส.ค.หากไม่มีฝนมาเพิ่ม ส่วนเขื่อนแควน้อยกับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้ปล่อยน้ำรวมกัน 3 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน รวม 4 เขื่อนปล่อยน้ำรวมกัน 28 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน และคาดว่าน้ำจะหมดไล่ๆกันคือวันที่ 3 ส.ค.
"เราประเมินกันว่า ปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างแทบจะไม่มี ยกเว้น 2-3 วันที่ผ่านมาที่ไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์บ้างประมาณ 20 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร และแนวโน้มในอนาคตที่คาดว่าฝนจะมาช่วงต้นเดือนสิงหาหรือปลายกรกฎา และความเปลี่ยนแปลง ความแปรปรวนค่อนข้างจะสูง แม้ว่าจะมีการคาดหมายว่าฝนจะตกบริเวณชายขอบของประเทศ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก แต่ไม่ได้ตกในภาคกลางก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเลย ซึ่งเราจำเป็นต้องคำนึงถึงแล้งหน้า (1 พฤศจิกายน 58-เมษายน 59) ด้วย ไม่ใช่ว่าสิ้นสุดฤดูฝนนี้แล้วก็จบกัน อย่างน้อยน้ำกินน้ำใช้ต้องมี เพราะฉะนั้นต้องหามาตรการหลายๆแนวทางมารองรับ โดยเอาตัวอย่างจากกรณีของการประปาธัญบุรีมาเป็นบทเรียน" นายทองเปลว ระบุ