ผู้ว่าฯกทม. เดินหน้าแผนป้องกันและแก้ภัยแล้งในพื้นที่ เชื่อไม่ถึงขั้นวิกฤต

ข่าวทั่วไป Tuesday July 14, 2015 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวภายหลังนำคณะผู้บริหารฯ ลงพื้นที่ตรวจการปรับปรุงซ่อมแซมถนนทรุดบริเวณถนนเลียบคลองลำนกแขวก ซอยสุวินทวงศ์ 42 แขวงลำผักชี และตรวจระดับน้ำคลองหนึ่งเชื่อมต่อจากคลองหลวงแพ่ง แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก รวมถึงติดตามสถานการณ์ภัยแล้งพื้นที่เขตหนองจอก ว่า สถานการณ์ภัยแล้งในกรุงเทพฯ ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ ยังคงมีฝนตกบ้าง

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งไม่เพียงแต่จะกระทบต่อน้ำดื่มน้ำใช้ แต่ยังรวมถึงพื้นที่การเกษตร และถนนทรุด หากฝนยังไม่ตกภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ อาจทำให้พื้นที่การเกษตรบางส่วนได้รับความเสียหาย เพราะน้ำจากต้นน้ำไม่มีเหลือเพียงพอที่จะปล่อยลงมายังคลองสายต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในส่วนของพื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้สำนักงานเขตได้กำหนดจุดติดตั้งแท็งค์น้ำในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนแล้ว

นอกจากนี้ กทม.ร่วมกับการประปานครหลวง(กปน.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงในการขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทุกครัวเรือนในพื้นที่กรุงเทพฯ

"แม้กรุงเทพฯ จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากนัก แต่ขอให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ออมการใช้น้ำและใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ในส่วนของการป้องกันถนนเลียบคลองทรุดอย่างถาวรนั้นสามารถทำได้โดยการสร้างแนวเขื่อนป้องกัน แต่ต้องใช้เวลาเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว

สำหรับคลองหนึ่งและคลองหลวงแพ่ง แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก ปัจจุบันปริมาณน้ำในคลองมีระดับต่ำ บางจุดแห้งขอด เนื่องจากคลองดังกล่าวรับน้ำจากคลองระพีพัฒน์ และคลองสิบสาม ซึ่งน้ำไม่เพียงพอที่จะปล่อยลงมา จำเป็นต้องรอน้ำฝนมาช่วยเติมระดับน้ำในคลอง ทำให้เกิดปัญหาการทรุดตัวบนถนนจากน้ำในคลองลดระดับลงอย่างมาก ส่งผลให้แรงดันจากน้ำที่เคยพยุงคันคลองและชั้นดินหายไป จึงเกิดดินสไลด์ ซึ่งส่วนใหญ่พบปัญหาดังกล่าวบริเวณถนนเลียบขนานคลองเข้าชุมชน และบนถนนสายรอง

ในเบื้องต้นสำนักงานเขตหนองจอกได้กั้นแนวเขตอันตรายพร้อมติดป้ายเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการใช้เส้นทาง จากนั้นเร่งซ่อมแซมและปรับผิวถนน ถมดิน และบดอัดถนนให้แน่น มีความแข็งแรง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สัญจรได้ตามปกติ ตลอดจนเฝ้าระวังการสไลด์ของดินเพิ่มเติม โดยจะทำการซ่อมแซมถาวรและปูแอสฟัลต์หลังจากสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย ทั้งนี้ในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือน มิ.ย.58 ที่ผ่านมา เกิดถนนทรุดในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 9 เส้นทาง ได้แก่ ถนนเลียบคลองกระทุ้มล้ม แขวงลำต้อยติ่ง ถนนเลียบคลองลำตามีร้องไห้ แขวงลำต้อยติ่ง ถนนเลียงคลองสิบสองฝั่งตะวันตก แขวงคลองสิบสอง ถนนเลียบคลองสนามกลางเล้า แขวงคลองสิบ ถนนเลียบคลองสนามกลางลำ แขวงคลองสิบ ถนนเลียบคลองเจียรดับ แขวงโคกแฝด ถนนเลียบคลองแบนชะโด แขวงคู้ฝั่งเหนือ ถนนเลียบคลองสิบสาม แขวงหนองจอก และถนนเลียบคลองลำนกแขวก แขวงลำผักชี

พร้อมกันนี้ กทม.ได้สั่งการให้สำนักการโยธาและสำนักงานเขตตรวจสอบจุดเสี่ยงถนนทรุดบริเวณถนนเลียบคลองสายต่างๆ อีกทั้งกำหนดมาตรการป้องกันถนนทรุด เช่น กำหนดน้ำหนักรถบรรทุกที่วิ่งผ่านถนนเลียบคลองไม่ให้เกินมาตรฐานตามที่โครงสร้างถนนแต่ละเส้นทางที่จะรับได้ สำรวจดินของถนนที่อยู่ในความเสี่ยง เพื่อปรับปรุงและป้องกันการเคลื่อนตัว โดยกทม.ยืนยัน ปัญหาถนนทรุดตัวไม่ใช่เกิดจากถนนไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากจะเห็นได้ว่าถนนทรุดตัวเกิดขึ้นบนถนนสายรอง และเป็นเส้นทางเลียบคลอง

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กทม.ได้เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากภัยแล้งตั้งแต่เดือน ธ.ค.57 เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เช่น การขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร ปัญหาค่าความเค็มของน้ำจากน้ำทะเลหนุนสูง ปัญหาไฟไหม้หญ้า และปัญหาดินทรุด แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ด้านตะวันออกซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 1.7 แสนไร่ อาทิ เขตคลองสามวา หนองจอก บางเขน สายไหม ลาดกระบัง และเขตมีนบุรี จะยังไม่ได้รับผลกระทบถึงขั้นวิกฤต เนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำในคลองสายต่างๆ แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติเมื่อเทียบกับระดับน้ำปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน อีกทั้งมีฝนตกในช่วงที่ผ่านมาซึ่งช่วยเติมน้ำในคลองไม่ให้แห้งขอด แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งขั้นรุนแรง แต่ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกนาข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความเสียหายและเสี่ยงต่อภาวะขาดทุน

ส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงภัยแล้งนั้น สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตได้เตรียมพร้อมรถบรรทุกน้ำและแท็งก์น้ำเพื่อตั้งวางในจุดที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ อีกทั้งประสานการประปานครหลวงตั้งจุดจ่ายน้ำสำหรับการบริโภคเพื่อบริการประชาชนในกรณีเกิดปัญหาภัยแล้ง สำนักการระบายน้ำเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ควบคุมระดับน้ำบริเวณประตูระบายน้ำ สำนักการโยธาสนับสนุนรถน้ำ รถแบ็คโฮและเครื่องมือหนักสำหรับซ่อมแซมถนน สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยเตรียมเวชภัณฑ์และเฝ้าระวังโรคที่อาจเกิดขึ้นในฤดูแล้ง เช่น โรคทางเดินอาหาร รวมถึงออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้ความรู้แก่ประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนโปรดติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่ หรือศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2558 ตั้งอยู่ ณ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร. 0 2270 0889 หรือสายด่วนโทร 199

นอกจากนี้ กทม.ได้รับการร้องขอจากผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีในการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำของ กทม.เพื่อร่วมปฏิบัติการแจกจ่ายน้ำช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้งในจังหวัดปทุมธานี โดย กทม.ได้ส่งรถบรรทุกน้ำของสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพร้อมคนขับเพื่อสนับสนุนภารกิจเร่งด่วนดังกล่าวแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ