โดยแผนระยะสั้น ระยะเวลาดำเนินการปี 58-59 จะเน้นการแก้ปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ทั่วถึงทั้งประเทศ ตั้งเป้าหมายให้มีน้ำประปาใช้ในหมู่บ้าน 7,000 แห่งที่ยังไม่มีใช้ รวมถึงเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ เช่น การขุดบ่อน้ำในไร่นาจากเดิม 50,000 แห่ง เป็น 200,000 แห่ง การทำแก้มลิง เป็นต้น
ในปี 58-59 จะใช้งบประมาณปกติรวมแล้ว 50,000-60,000 ล้านบาท แต่สำหรับปี 59 จะมีงบพิเศษเพิ่มเติมอีก 30,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 2 ปีเป็น 80,000-90,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาน้ำระยะสั้น หากประชาชนในพื้นที่ใดที่ต้องการทำบ่อน้ำ หรือขยายบ่อน้ำก็ให้ของบมาได้โดยผ่านกระทรวงมหาดไทย " ประเทศไทยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาน้ำ และทำให้ไทยมีน้ำใช้อย่างยั่งยืน ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม หรือแห้งแล้งอีก แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ต้องดำเนินการ หากเห็นประโยชน์ และต้องการให้ไทยมีน้ำกินน้ำใช้ ถ้าทำได้ เชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะเพิ่มขึ้นอีกมาก" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
สำหรับปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ มาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด โดยในปี 54 ไทยเกิดน้ำท่วมใหญ่ พอมาถึงปี 55 จึงระบายน้ำออกจากเขื่อนในปริมาณมาก เพราะกลัวจะเกิดน้ำท่วมอีก พอปี 56 ปริมาณน้ำฝนไม่มากนัก แต่ความต้องการใช้สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะมีโครงการรับจำนำข้าวราคาสูง ทำให้เกษตรกรปลูกข้าว 3-4 รอบ ส่งผลให้ในปี 57 น้ำในเขื่อนน้อยลงมาก และฝนตกน้อยอีก เช่นเดียวกับปี 58 ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยมาก แต่ก็ต้องบริหารจัดการกันไปเพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ โดยเน้นความสำคัญที่น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และทำการเกษตรมาลำดับสุดท้าย
ส่วนแผนระยะกลางและยาว จะเป็นการจัดหาน้ำต้นทุนมาเติมในเขื่อนหลัก จากปัจจุบันที่มาจากน้ำฝนเท่านั้น โดยจะผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินของเมียนมามาเติมเขื่อนภูมิพล ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือกับผู้นำของเมียนมาแล้ว และยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ รวมถึงจะผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาเติมเขื่อนสิริกิติ์ แต่ต้องนำเข้าหารือกับคณะกรรมการแม่น้ำโขง 6 ฝ่ายก่อน เพราะทุกวันนี้ ไทยคงสร้างเขื่อนไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะมีปัญหาสิ่งแวดล้อม เอ็นจีโอ ฯลฯ แต่วิธีการผันน้ำนี้คงใช้เวลาอีก 4-5 ปี กว่าจะทำได้