อธิบดีฯ แจงค่าใช้จ่ายขุดบ่อบาดาลแพงกว่าเอกชน เหตุเจาะลึกกว่า 100 ม.-อายุใช้งานนานกว่า

ข่าวทั่วไป Tuesday July 21, 2015 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ชี้แจงสาเหตุที่ค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลสูงกว่าเอกชน เพราะใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ที่สามารถเจาะได้ลึกมากกว่าถึง 5 เท่า และใช้วัสดุคุณภาพดีที่มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าเท่าตัว

น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า การเจาะน้ำบาดาลโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถเจาะเอกชนทั่วไป เนื่องจากเครื่องจักรเจาะน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ สามารถเจาะผ่านชั้นดินชั้นหินได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตะกอนร่วน หรือหินแข็ง ทำให้เจาะน้ำบาดาลได้ในระดับที่ลึกกว่ารถเจาะทั่วไปของเอกชน สำหรับการเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเจาะที่ความลึกโดยเฉลี่ย 100 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางบ่อ 6 นิ้ว ใช้ท่อพีวีซีหนา(ชั้นคุณภาพ 13.5) ในขณะที่รถเจาะเอกชนซึ่งคิดค่าใช้จ่ายในราคาถูกจะเจาะได้เฉพาะในพื้นที่ที่เป็นตะกอนร่วนเท่านั้น ไม่สามารถเจาะผ่านชั้นหินแข็งได้ ส่วนใหญ่เจาะที่ความลึกโดยเฉลี่ย 20-30 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 นิ้ว ใช้ท่อพีวีซีบาง(ชั้นคุณภาพ 5-8.5) ทำให้ได้บ่อน้ำบาดาลที่มีมาตรฐานต่างกัน ประสิทธิภาพการให้น้ำของบ่อที่มีลักษณะใหญ่ย่อมให้น้ำได้มากกว่า

ทั้งนี้มีข่าวว่า สภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง ร่วมกับสภาเกษตรภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง เตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เรื่อง การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ขาดแคลนน้ำมีราคาแพงมาก และสูบน้ำจากบ่อน้ำบาดาลได้ปริมาณน้อย เพราะท่อสูบน้ำมีขนาดเล็กแตกต่างจากช่างที่ชาวนาจ้างมาขุดเอง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าหลายเท่า มีคุณภาพน้ำดี สูบน้ำได้มากกว่า และยังขุดเจาะรวดเร็วกว่า

น.ส.สุทธิลักษณ์ กล่าวว่า บ่อน้ำบาดาลที่เจาะโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะมีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ขณะที่บ่อน้ำบาดาลขนาด 3-4 นิ้วที่เจาะโดยเอกชนมีอายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี และบางแห่งใช้งานได้เพียง 1-3 เดือน กรณีที่ระดับน้ำบาดาลลดลง ซึ่งเครื่องสูบน้ำแบบเทอร์ไบน์ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเลือกใช้สามารถสูบน้ำได้ในระดับลึก แม้ระดับน้ำลดลง เครื่องสูบน้ำยังสามารถทำงานได้ตามปกติ หากเปรียบเทียบกับเครื่องสูบน้ำที่เกษตรกร เรียกโดยทั่วไปว่า “ปั๊มหอยโข่ง" จะสามารถสูบน้ำได้ในระดับลึกไม่เกิน 8 เมตร หากลึกมากกว่านั้น เกษตรกรต้องทรุดบ่อ(ขุดดินรอบบ่อน้ำบาดาลแล้วใส่วงคอนกรีต เพื่อตามระดับน้ำลงไปแล้วนำเครื่องสูบลงไปติดตั้ง) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณีผู้ที่ลงไปขุดดินทรุดบ่อ เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ

สำหรับผลการดำเนินงานโครงการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วน ประจำปี 2558 ล่าสุดมีการเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้วเสร็จจำนวน 473 แห่ง จาก 511 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 92.56 ปริมาณน้ำบาดาลที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ จำนวน 205,814 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนการติดตั้งเครื่องสูบน้ำของบ่อสังเกตการณ์ ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 217 แห่ง จาก 380 แห่ง ปริมาณน้ำบาดาลที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์จำนวน 32,550 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

"หากดำเนินการตามแผนงานแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ จะสามารถช่วยเหลือพื้นที่เกษตรให้สามารถสูบน้ำบาดาลมาใช้ได้ 350,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีพื้นที่ได้รับผลประโยชน์จากน้ำบาดาลไม่น้อยกว่า 150,000 ไร่ หรือไม่น้อยกว่า 4,000 ครัวเรือน" น.ส.สุทธิลักษณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ