กนช.เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์น้ำระยะยาว 6 ด้าน,ตั้งอนุกรรมการ 4 ชุดดูแล

ข่าวทั่วไป Wednesday July 22, 2015 14:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กนช. ได้เห็นชอบตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ เพื่อนำมาบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้บริหารจัดการน้ำได้ทั้งระบบ ในระยะยาว ตั้งแต่ปี 2557-2569 ให้เกิดความยั่งยืน ครอบคลุมใน 6 ด้าน ประกอบด้วยน้ำอุปโภคบริโภค, น้ำเพื่อการเกษตร, น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม, การบำบัดน้ำเสีย, การเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ และการบริหารจัดการทั้งระบบ

โดยวันนี้ มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 4 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการการใช้น้ำ เพื่อบริหารการใช้น้ำทั้งระบบ 2.คณะอนุกรรมการจัดหาน้ำ 3.คณะอนุกรรมการประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและติดตามการดำเนินงาน 4.คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ โดยให้กรมชลประทาน นำน้ำมาสนับสนุนการทำประปาของการประปานครหลวง เช่น การนำน้ำจากเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อน คือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีน้ำอยู่ประมาณ 7,500 ล้านลูกบาศก์เมตร มาใช้สนับสนุน

ทั้งนี้ จากข้อมูลการใช้น้ำทั้งระบบ ภาคครัวเรือนใช้น้ำอุปโภคและบริโภค อยู่ที่ร้อยละ 49 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคราชการ รวม ร้อยละ 51 ซึ่งรัฐบาลขอความร่วมมือให้ส่วนราชการลดการใช้น้ำลงอีก ร้อยละ 10 ของการใช้อยู่ในปัจจุบัน เหมือนการรณรงค์ประหยัดไฟฟ้าโดยหัวหน้าส่วนราชการจะรายงานนายกรัฐมนตรีและครม.อย่างต่อเนื่อง

สำหรับแผนในระยะยาวตั้งแต่ปี 2557-2569 นั้น ตั้งเป้าการขุดบ่อน้ำขนาดเล็ก เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ให้ได้ 7,000 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร การเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 6.5 แสนหมื่นไร่ รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม ซึ่งในระยะเร่งด่วน ปี 2558-2559 มีความคืบหน้าได้น้ำแล้วกว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน เน้นให้ประชาชนใช้อุปโภคบริโภคก่อน

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมให้ศึกษาเพิ่มเติมใน 4 แนวทาง อาทิ การผันน้ำจากฝั่งตะวันตกมาเสริมลุ่มน้ำเจ้าพระยา, การตัดน้ำโดยตรงจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองสำเหร่หรือคลองเปรมประชากรสายเก่าฝั่งรังสิต เพื่อเข้าสู่โรงสูบน้ำของการประปานครหลวงตัดปัญหาน้ำหายข้างทาง พร้อมกับขอให้ประชาชนร่วมมือกันประหยัดน้ำ และเห็นว่าควรต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ภัยธรรมชาติได้ทุกรูปแบบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ