"เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภรรยา มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดก กฎหมายฉบับนี้มีประเด็นสำคัญ อาทิกำหนดข้อห้าม ดังนี้ ห้ามสามีและภรรยาที่ทำอุ้มบุญปฏิเสธรับเด็กเป็นบุตร ห้ามรับตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า ห้ามเป็นนายหน้า จัดการหรือชี้ช่องให้มีการรับตั้งครรภ์แทน ห้ามโฆษณาว่ามีหญิงรับตั้งครรภ์แทน และห้ามซื้อ เสนอซื้อ หรือขาย หรือนำเข้าหรือส่งออก อสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน โดยสถานประกอบการ แพทย์ คู่สามีภรรยา ผู้รับตั้งครรภ์ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากกระทำผิดจะมีโทษทั้งจำและปรับ"นพ.รัชตะ กล่าว
กฎหมายฉบับนี้ มี 6 หมวด 56 มาตรา การปฏิบัติตามกฎหมายจะดำเนินการภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือ กคทพ. จำนวน 15 คน มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานและมีนายกแพทยสภา เป็นรองประธานมีคณะกรรมการโดยตำแหน่ง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กรมอนามัย คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ จิตแพทย์ สูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และมีผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ฝ่ายละ 3 คน มีอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นเลขานุการ ทำหน้าที่เสนอนโยบาย ออกประกาศ พัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และพิจารณาอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทน และใช้ตัวอ่อนที่เหลือใช้เพื่อการศึกษาวิจัย รวมถึงควบคุมกำกับให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งรับรองกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง 14 ฉบับ ขณะนี้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองเด็กอุ้มบุญ ประกาศหลักเกณฑ์เงื่อนไขมาตรฐานต่างๆของแพทยสภา เพื่อบังคับใช้ในทางปฏิบัติเดียวกันทั่วประเทศ ขณะนี้มีสถานพยาบาลรัฐ เอกชน ที่พร้อมให้บริการกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ โดยกรมสนับสนุนบริการฯ ได้ประชุมชี้แจงกฎหมายให้ผู้บริหาร/ผู้ประกอบการสถานพยาบาล/แพทย์/ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศแล้ว เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา
สำหรับคู่สามีภรรยาที่ต้องการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ ต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย กรณีเป็นคนไทยที่สมรสกับต่างชาติ จะต้องจดทะเบียนสมรสไม่น้อยกว่า 3 ปี จะต้องผ่านการตรวจประเมินโดยแพทย์ที่มีคุณสมบัติตามแพทย์สภากำหนด และแพทย์ผู้ให้บริการจะต้องยื่นขออนุญาตที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กคทพ. ส่วนหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน จะต้องมีสัญชาติไทย ไม่ใช่พ่อแม่หรือลูก แต่จะต้องเป็นพี่น้องท้องเดียวกันของสามีหรือภรรยาผู้ที่ต้องการมีบุตร และเคยมีบุตรมาก่อนจะต้องได้รับความยินยอมจากสามีด้วย กรณีที่คู่สมรสทั้งคู่เป็นลูกคนเดียว ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการตั้งครรภ์แทนนี้จะใช้ 2 วิธีเท่านั้นวิธีที่ 1 ใช้ตัวอ่อนที่ได้จากการผสมอสุจิของสามีและไข่ของภรรยาคู่สมรส แล้วนำไปฝังในมดลูกของผู้รับตั้งครรภ์แทน วิธีที่ 2 ใช้ตัวอ่อนที่ได้จากอสุจิของสามีหรือไข่ของภรรยาที่ผสมกับไข่หรืออสุจิของผู้บริจาคอื่น ไม่ใช่ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์ จากนั้นจะดูแลตามระบบ คือ การฝากครรภ์ ฉีดวัคซีน จนกระทั่งคลอด ซึ่งสามารถฝากครรภ์และคลอดได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง แต่ต้องนำเอกสารข้อตกลงไปด้วย เพื่อเป็นหลักฐานในการออกหนังสือรับรองการเกิดและการแจ้งการเกิดเด็กตามกฎหมาย โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะทำหนังสือแจ้งไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งต่อไป
สำหรับโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ เช่น กรณีเป็นแพทย์ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานแพทยสภา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากกระทำเชิงการค้า รับจ้างอุ้มบุญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท กรณีเป็นนายหน้ามีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีขายอสุจิหรือไข่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่มีการดำเนินการอุ้มบุญมาก่อนกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้สามารถยื่นรับรองบุตรได้เลย
อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนการเตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพจิตเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จำเป็นต้องให้ความรู้ คำแนะนำการเลี้ยงดูแก่พ่อแม่กลุ่มนี้ และการรับรู้สถานะในช่วงวัยที่เหมาะสมของเด็กต่อไป