ในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ในการเฝ้าระวังดูแลพื้นที่เสี่ยงสำคัญ คือศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ อย่างต่อเนื่อง โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการในพื้นที่ เร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ปกครองให้ดูแลป้องกันโรค เช่น ดูแลความสะอาดเครื่องเล่นเด็ก ให้เด็กล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้เด็กบ่อยๆ เป็นต้น และให้ครูตรวจวัดไข้และตรวจมือเท้าเด็กทุกเช้า หากพบมีไข้ หรือมีตุ่มใสขึ้นที่มือ ในปาก ขอให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แยกเด็กออกจากเด็กทั่วไป และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อควบคุมป้องกันโรคไม่ให้แพร่ระบาด และให้เด็กหยุดเรียนพักที่บ้านจนกว่าจะหายป่วย
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสในลำไส้ หรือ เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) หลายชนิด ชนิดที่พบบ่อยและรุนแรงคือ เอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus71) ติดต่อกันจากมือสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพองหรือแผล และอุจจาระของผู้ป่วย เข้าสู่ปาก เด็กที่ติดเชื้อมักจะมีไข้และมีตุ่มพองในปาก ที่ฝ่ามือหรือผิวหนัง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง จะหายได้เองภายใน 7-10 วัน โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษาเฉพาะ การดูแลรักษาจะเน้นเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาทาแก้เจ็บแผลที่ลิ้น และกระพุ้งแก้ม ผู้ดูแลเด็กควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ และให้เด็กรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำเย็นๆ หรือไอศกรีม และให้เด็กนอนพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อนให้ป้อนนมให้แทนการดูดนมเพื่อลดการปวดแผลในปาก
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือแนวทางการป้องกันควบคุมโรคติดต่อในศูนย์เด็กเล็กสำหรับครูและผู้ดูแลเด็ก แจกให้โรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศแล้ว ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครอง หมั่นสังเกตอาการของเด็ก โดยทั่วไปเด็กจะมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ หากป่วย 2 - 3 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้น มีไข้สูงขึ้น ตาลอย ผวา ชัก หรือซึมลง ขอให้รีบไปพบแพทย์ด่วน สำหรับวิธีป้องกันโรคมือเท้าปากที่ดีที่สุดคือการรักษาความสะอาดร่างกาย ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย รวมทั้งใช้ช้อนกลางและไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน