กรมชลฯ วอนเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างรอฝนตามฤดูกาลค่อยเพาะปลูก

ข่าวทั่วไป Tuesday August 4, 2015 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การเพาะปลูกพืชของเกษตรกร ว่า ปัจจุบันในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ในเขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตเกือบหมดทั้งพื้นที่แล้ว ส่วนทางตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณฝนที่ตกอยู่ในปัจจุบัน ทำให้กรมชลประทาน สามารถกระจายน้ำเข้าไปในระบบชลประทาน ส่งไปยังพื้นที่การเกษตรที่ต้องการน้ำได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

อนึ่ง ในกรณีของการเพาะปลูกพืช โดยเฉพาะข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง นั้น กรมชลประทาน ขอย้ำว่า ที่ผ่านมาไม่ได้ห้ามเกษตรกรทำการเพาะปลูก เพียงแต่ขอให้รอฝนที่ตกต้องตามฤดูกาลก่อนในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ฝนอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา มีฝนตกลงมาค่อนข้างสม่ำเสมอ เกษตรกรจึงสามารถใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจทำการเพาะปลูกได้ด้วยตนเอง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด( 4 ส.ค. 58) เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 4,057 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ 257 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลลงอ่างฯ(3 ส.ค.) 19.08 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 3,251 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ 401 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลลงอ่างฯ(3 ส.ค.) 26.24 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำวันละ 11.08 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยฯ จังหวัดพิษณุโลก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 143 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลลงอ่างฯ(3 ส.ค.) 2.05 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำวันละ 1.21 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 39 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ 36 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลลงอ่างฯ(3 ส.ค.) 2.33 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำวันละ 1.07 ล้านลูกบาศก์เมตร การใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ปัจจุบันยังคงการระบายน้ำรวมกันวันละ 18.36 ล้านลูกบาศก์เมตร

สืบเนื่องจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้คาดการณ์ว่าอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน จึงปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อผลักดันน้ำเค็มลง จากเดิมที่ระบาย 95 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาไว้ให้มากที่สุด ในส่วนของการใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก นั้น ยังไม่มีแผนปรับเพิ่มการระบายน้ำไปมากกว่าปัจจุบัน ที่ระบายรวมกันอยู่ในเกณฑ์ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทั้งนี้ หากมีฝนตกด้านท้ายเขื่อน กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานให้ ส่วนปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จะใช้เพื่อควบคุมความเค็มไม่ให้เกินค่ามาตรฐานเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ