นพ.รัชตะ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือเอ็นซีดี (NCDs) ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, มะเร็ง, เบาหวาน และโรคทางเดินหายใจเรื้อรังกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก เกิดจากวิถีชีวิตในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีเทคโนโลยีต่างๆ คอยอำนวยความสะสวก เช่น รีโมท, บันไดเลื่อน, ลิฟท์, โทรศัพท์มือถือ, มีอาหารที่สั่งตรงถึงบ้าน หรือร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ตึงเครียด สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง รับประทานอาหารรสหวาน มัน เค็มเกินสะสมจนเกิดภาวะน้ำหนักเกิน อ้วน ตามมาด้วยภาวะไขมันผิดปกติ น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และหากยังมีการดำเนินวิถีชีวิตเช่นเดิม ก็จะเป็นโรคเบาหวาน หัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็งตามมา
ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเหล่านี้ประมาณ 36 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา สำหรับไทยพบว่าโรคไม่ติดต่อเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตกว่า 300,000 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง มากที่สุดคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมาคือมะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และเบาหวาน เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยมูลค่า 198,152 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของรายได้ประชาชาติ เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศและภูมิภาค
นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า กลุ่มโรคเอ็นซีดีสามารถป้องกันได้แต่ต้องมีมาตรการที่ดี การพัฒนางานบริการสุขภาพทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยจัดให้มีระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิผลและเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ในขณะเดียวกันการทำงานเชิงรุกก็ทำคู่ขนานกันไป เช่น การรณรงค์สื่อสารเตือนภัย การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การคัดกรองภาวะแทรกซ้อน อันสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ในมาตรการระดับประชากรที่มีประสิทธิผลและคุ้มค่า และผลักดันให้มีนโยบายสาธารณะในภาคส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากภาคสุขภาพที่จะจัดการกับปัจจัยเสี่ยงร่วมของโรคและขับเคลื่อนงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม
กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อภายในปี 2568 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก อาทิ ลดอัตราตายลงให้ได้ร้อยละ 25 การบริโภคเค็มลดลงร้อยละ 30 การบริโภคยาสูบลดลงร้อยละ 30 ลดการดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 10 ภาวะอ้วนและเบาหวานไม่เพิ่มขึ้น การเข้าถึงยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จำเป็นครอบคลุมร้อยละ 80 และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคไม่ติดต่อ ต้องได้รับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพตามความเสี่ยง โดยมีทีมหมอครอบครัว ที่ประกอบด้วยทีมสหวิชาชีพ เข้าไปดูแลประชาชนถึงบ้านตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน ได้รับการดูแลรักษาแบบใกล้บ้านใกล้ใจ