อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคนี้อาการไม่รุนแรงแต่ติดต่อกันง่าย เนื่องจากเชื้อไวรัสจะอยู่ในสิ่งสกปรก น้ำตา ขี้ตาของผู้ที่เป็นตาแดง ซึ่งการติดต่อจะมี 3 ลักษณะ คือ 1.จากมือที่ไปสัมผัสน้ำตา ขี้ตา ของผู้ป่วยตาแดงที่ติดอยู่ตามสิ่งของพื้นผิวต่างๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะทำงาน แป้นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ราวรถเมล์ เป็นต้น แล้วมาสัมผัสที่ตา หรือใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น 2.จากแมลงหวี่แมลงวันที่ตอมสิ่งสกปรกหรือตอมตาของผู้เป็นตาแดงแล้วไปตอมตาคนอื่นต่อ 3.จากการลงเล่นในน้ำท่วมขังหรือน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ซึ่งน้ำจะมีความสกปรกสูง โดยหลังจากติดเชื้อภายใน 2-14 วัน จะมีอาการเคืองตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล มีขี้ตามาก มักเริ่มจากตาข้างหนึ่งก่อน แล้วลามไปยังตาอีกข้างหนึ่งภายใน 2-3 วัน
โรคตาแดงที่เกิดจากเชื้อไวรัสนี้ จะไม่มียารักษาโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ คือใช้ยาหยอดตาเพื่อลดอาการระคายเคือง ควรระวังไม่ใช้ยาหยอดตาร่วมกัน เนื่องจากเชื้ออาจติดอยู่ที่ปากขวดยาหยอดตาได้ และควรหยุดเรียน หรือหยุดงานอย่างน้อย 3 วัน พักผ่อนให้มากๆ และพักการใช้สายตา ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากยังมีอาการระคายเคืองเหมือนมีทรายเข้าตา ตามัว ปวดตารุนแรง หรืออาการตาแดงไม่ทุเลาภายใน 7 วัน ขอให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจอย่างละเอียดและให้การรักษาอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ สามารถดูแลรักษาโรคตาแดงด้วยตนเองในเบื้องต้นได้โดย การใช้กระดาษนุ่มๆ ซับน้ำตา หรือใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดขี้ตาและบริเวณเปลือกตา แล้วทิ้งในถังขยะที่มิดชิด ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตา เนื่องจากเชื้อจะสะสมที่ผ้าเช็ดหน้าและแพร่ไปติดคนอื่นได้ ต้องงดใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าตาจะหายอักเสบและใส่แว่นกันแดดเพื่อลดการระคายเคืองแสง และไม่ควรใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา และเครื่องนอน เพื่อป้องกันโรคแพร่ระบาด
"สำหรับการป้องกันโรคตาแดง ขอให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงการใช้มือแคะ แกะ เกาหน้า ขยี้ตา รักษาความสะอาดของเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว ไม่ลงไปในน้ำท่วม หากจำเป็นขอให้รีบอาบน้ำให้สะอาดทันทีหลังขึ้นจากน้ำ ส่วนผู้เป็นโรคตาแดง ขอให้งดลงสระว่ายน้ำจนกว่าจะหาย เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายในน้ำ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" นายแพทย์โสภณ กล่าว