สำหรับความคิดเห็นต่อกรณีกลุ่มที่คิดว่าเป็นผู้วางระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 46.0 คิดว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย รองลงมาคือร้อยละ 45.6 คิดว่าเป็นกลุ่มผู้สูญเสียประโยชน์ทางการเมือง และร้อยละ 5.3 คิดว่าเป็นกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในภาคใต้ มีเพียงร้อยละ 3.1 ที่คิดว่าเป็นกลุ่มอื่นๆ เช่น ชาวอุยกูร์, กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและ คสช.
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 49.7 เห็นว่าการวางระเบิดในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อทำลายเศรษฐกิจของประเทศ รองลงมาคือ ร้อยละ 47.0 ระบุเพื่อทำลายความเชื่อมั่นของต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ร้อยละ 43.9 ระบุเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและ คสช. ร้อยละ 42.8 ระบุคิดว่าเพื่อต่อรองทางการเมือง ร้อยละ 39.5 ระบุเพื่อทำลายความสุขของคนไทยภายหลังการเฉลิมฉลองวันแม่แห่งชาติ และร้อยละ 33.3 ระบุเพื่อทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวของประเทศ ตามลำดับ
สำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 47.9 ระบุมีผลกระทบต่อสุขภาพจิต ส่วนร้อยละ 44.0 ระบุว่ามีผลกระทบต่อการทำงาน/การเรียน ขณะที่ร้อยละ 24.6 ระบุไม่ได้รับผลกระทบด้านใดเลย
เมื่อสอบถามถึงสถานที่หรือบริเวณที่คิดว่าจะหลีกเลี่ยงไม่เดินทางเข้าไปใกล้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 58.3 ระบุห้างสรรพสินค้า/โรงภาพยนตร์ รองลงมา ร้อยละ 46.7 ระบุแหล่งชุมชน อาทิ ป้ายรถเมล์/สะพานลอย/สี่แยก ตามด้วยร้อยละ 39.2 ระบุสถานีขนส่ง, สถานีรถไฟฟ้า, สถานีรถไฟ, สนามบิน และร้อยละ 30.9 ระบุศูนย์การค้า/ตลาดนัด และร้อยละ 23.1 ระบุสถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิ สวนสนุก, อุทยาน, สวนสาธารณะ และร้อยละ 21.5 ระบุสถานที่ราชการ
เมื่อสอบถามถึงความมั่นใจในความปลอดภัยของการดำเนินชีวิตประจำวัน ภายหลังเกิดเหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ พบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 41.5 ไม่ค่อยมั่นใจ ขณะที่ร้อยละ 32.3 ระบุค่อนข้างมั่นใจ และเมื่อสอบถามถึงความมั่นใจในความสงบเรียบร้อยของประเทศ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 23.5 ระบุมั่นใจ, ร้อยละ 34.8 ระบุค่อนข้างมั่นใจ, ร้อยละ 32.4 ไม่ค่อยมั่นใจ และร้อยละ 9.3 ระบุไม่มั่นใจ
ประเด็นสำคัญคือ เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและ คสช.ในการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.6 ระบุเชื่อมั่น รองลงมาร้อยละ 38.7 ระบุค่อนข้างเชื่อมั่น ส่วนร้อยละ 15.5 ระบุไม่ค่อยเชื่อมั่น มีเพียงร้อยละ 2.2 ระบุไม่เชื่อมั่น
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 84.9 ระบุพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและคสช.ในการแจ้งเบาะแส การป้องกันเหตุวินาศกรรมต่างๆ โดยสิ่งที่คิดว่าจะให้ความร่วมมือได้ทันทีคือ การช่วยสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตา ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนส่งต่อหรือบอกคนอื่น, โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ไม่ปกติ, สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไม่ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เป็นกำลังใจให้รัฐบาล คสช.และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน
ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือ เมื่อสอบถามตัวอย่างถึงบุคคล/หน่วยงานที่ต้องการให้เข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยของประชาชนและป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้อีก นั้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 62.2 ระบุ คสช. รองลงมาร้อยละ 51.0 ระบุหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหมด และร้อยละ 50.9 ระบุสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนอีกร้อยละ 39.5 ระบุต้องการนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล และร้อยละ 36.8 ระบุกองทัพ สุดท้ายร้อยละ 24.7 ระบุผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,128 ตัวอย่าง ระยะเวลาการดำเนินโครงการในวันที่ 18 - 19 สิงหาคม 2558