ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์สภาพอากาศว่า ปริมาณฝนในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2558 จะอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 10 – 25 ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ ลดน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่จะถึงนี้ให้มากที่สุด จึงขอให้เกษตรกรที่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีรอบแรกไปแล้ว ให้งดปลูกข้าวต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกได้ทำการเพาะปลูก ซึ่งกรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำท่าที่มีอยู่ กระจายสู่พื้นที่การเกษตรของเกษตรกรอย่างทั่วถึงให้มากที่สุด
ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด และร่วมกันสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านน้ำ ให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด ( 25 ส.ค. 58) เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 4,325 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ 525 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลลงอ่างฯ (24 ส.ค.) 15.74 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 3,784 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ 934 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลลงอ่างฯ (24 ส.ค.) 25.08 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำวันละ 9.11 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนแควน้อยฯ จังหวัดพิษณุโลก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 228 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ 185 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลลงอ่างฯ (24 ส.ค.) 3.67 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 118 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การได้ 115 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำวันละ1 ล้านลูกบาศก์เมตร (ไม่มีน้ำไหลลงอ่างฯ) รวม 4 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งสิ้น 1,759 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีการระบายน้ำรวมกันประมาณวันละ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร