"กล้อง CCTV บริเวณแยกราชประสงค์เพียง 1 ตัว ไม่ได้ทำให้รูปคดีเสีย และโปรดอย่าเอาความบกพร่องของกล้องบางจุดมาตีความว่ากล้อง CCTV ทั่วกรุงเทพฯ ไร้ประสิทธิภาพทุกจุด ส่วนบางจุดที่เห็นภาพไม่ชัดเจนนั้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและระยะห่าง อีกทั้งขึ้นอยู่กับประเภทการใช้งานของกล้องแต่ละชนิดด้วย เช่น กล้อง CCTV เพื่อความมั่นคง และกล้อง CCTV เพื่อการจราจร เป็นต้น ทั้งนี้ขอยืนยันว่ากล้อง CCTV ของกทม.มีมาตรฐาน"
ทั้งนี้ ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมากทม.ก็ให้การสนับสนุนภาพจาก CCTV ของกรุงเทพมหานครแก่ฝ่ายความมั่นคงอย่างเต็มที่ตามที่ร้องขอรวมจำนวน 48 ครั้งด้วยความยินดีทุกครั้ง เพื่อใช้ในการสืบสวนและนำไปประกอบคดี ซึ่งจากเหตุการณ์อาชญากรรมหรืออุบัติเหตุต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในหลายคดีก็สามารถจับตัวผู้ต้องสงสัยได้เพราะกล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้กทม.ยังสนับสนุนภารกิจด้านต่างๆ ตามที่ร้องขออย่างเต็มที่ทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หลักฐานประกอบคดีบริเวณแยกราชประสงค์ไม่ได้ใช้เฉพาะแต่กล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานครเท่านั้น ยังต้องมีหลักฐานวัตถุ พยานบุคคลและอื่นๆ ในการประกอบการสืบสวนสอบสวนและทำสำนวนคดี โดยกล้อง CCTV เป็นเพียงอุปกรณ์หนึ่งที่ใช้ในการตรวจสอบเท่านั้น
ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวว่า กล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานครทั้ง 107 ตัว ครอบคลุมพื้นที่เกิดเหตุและเส้นทางที่ผู้ต้องสงสัยใช้เป็นเส้นทางหลบหนี ซึ่งในจำนวนกล้อง CCTV 107 ตัว มีชำรุด 4 ตัว ได้แก่ บริเวณแยกราชประสงค์ 1 ตัวจากจำนวนกล้อง CCTV บริเวณแยกราชประสงค์จำนวน 19 ตัว ถนนสีลม บริเวณซอยคอนแวนต์ 1 ตัว และถนนสีลม บริเวณแยกนราธิวาสราชนครินทร์ 2 ตัว ซึ่งเป็นการชำรุดตามสภาพการใช้งาน ซึ่งเมื่อตรวจพบการชำรุดกทม.ได้ซ่อมแซมเพื่อให้ใช้ได้ตามปกติทันที ในส่วนของการซ่อมแซมนั้นจะมีทีมตรวจในพื้นที่จำนวน 5 ทีม เวียนทุก 15 วัน ซึ่งหากไม่ได้เกิดจากปัญหาทางเทคนิค เช่น ไฟฟ้าดับรอบบริเวณดังกล่าว ก็สามารถซ่อมแซมเพื่อใช้งานได้ทันที
ทั้งนี้ในพื้นที่กทม.มีกล้อง CCTV ทั่วกรุงเทพฯ ที่ใช้งานแล้ว 41,000 ตัว ไม่รวมภายในสวนสาธารณะและโรงเรียนในสังกัด กทม. อีก 4,000 กว่าตัว นอกจากนี้ยังมีโครงการติดตั้งกล้อง CCTV ในสัญญาใหม่ซึ่งรอบรรจบกระแสไฟอีกกว่า 2,000 ตัว วอนโลกโซเชียลและสื่อมวลชนให้ข้อมูลรอบด้านและให้ความตระหนักในการนำเสนอข่าว