(เพิ่มเติม1) สปช.โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง 135 ต่อ 105 เสียง

ข่าวทั่วไป Sunday September 6, 2015 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วย 135 คะแนนเสียง ขณะที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนน 105 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ทั้งนี้ สปช.มีจำนวนทั้งหมดแลเข้ามาประชุม 247 เสียง

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ส่วนตัวประเมินว่าสาเหตุที่สมาชิกสปช.จำนวน 135 คนลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญมี 2 ปัจจัยสำคัญด้วยกัน 1.เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ระบบเลือกตั้งสส.ที่นำระบบสัดส่วนผสมมาใช้ ซึ่งจะทำให้มีพรรคการเมืองจำนวนมากเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎร อาจก่อให้เกิดการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองอีก เช่นเดียวกับการให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสส. ที่จะส่งผลให้นายกรัฐมนตรีจากคนนอกไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะต้องบริหารผลประโยชน์ในสภาฯ และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง 2.สถานการณ์ภายนอก โดยต้องยอมรับว่าเวลานี้มีกลุ่มคนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากปล่อยให้ทำประชามติอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในวงกว้างได้อีก

“ในเมื่อโอกาสที่จะทำประชามติให้ผ่านเป็นไปได้ยาก เมื่อเราเห็นว่าข้างหน้าเป็นเหว แล้วยังจะกระโดดลงไปอีกหรือ และการที่สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นการตบหน้าคณะกมธ.ยกร่างฯแต่อย่างใด เพราะต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ เปรียบเหมือนกับกมธ.ยกร่างฯเป็นพ่อครัวทำอาหารมาให้สปช.ชิม เมื่อไม่อร่อยจะให้บอกว่าผ่านคงไม่ได้" นายเสรี กล่าว

นายเสรี กล่าวว่า คิดว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 คนที่ตั้งขึ้นมาใหม่นั้นสามารถหยิบยกร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกมธ.ยกร่างฯได้ดำเนินการเอาไว้แล้วและรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆมาปรับใช้ แต่ควรยกเลิกคปป. เพราะเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจมากเกินไป รวมทั้งจะต้องเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมาร่วมแสดงความคิดเห็นในร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ อย่าไปรังเกียจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ต้องร่วมมือกัน เหมือนกับการสร้างกำแพงเมืองจีนที่ต้องใช้คนจำนวนมากถึงจะประสบความสำเร็จ

นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสปช.ที่ลงมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คะแนนของสมาชิกสปช.ที่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 135 เสียง ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ แต่ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 5 เสียง เชื่อว่าสาเหตุที่สปช.ลงมติไม่เห็นด้วยนั้นมาจากการหารือและเปลี่ยนข้อมูลในข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการล็อบบี้ สำหรับกรณีที่มีการอ้างว่าให้มีการลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแลกกับตำแหน่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศนั้นยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า สมาชิกสปช.ส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเห็นว่าสถานการณ์ยังมีความขัดแย้งและเศรษฐกิจยังมีปัญหา จึงเห็นว่าควรไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลดความขัดแย้งและเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชนก่อน ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 เดือนซึ่งจะอยู่ที่ประมาณเดือนเม.ย.2559และกลับเข้าสู่กระบวนการประชามติ

“ไม่ทราบว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่คิดว่าควรนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจุบันมาเป็นหลักในการพิจารณาและปรับปรุงเนื้อหาในส่วนที่มีปัญหา" นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าสาเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านสปช.ไม่ได้อยู่ที่การมีคปป. เพราะมีสมาชิกสปช.บางคนที่ไม่เห็นด้วยกับคปป.เท่านั้น แต่อาจเป็นเรื่องของเนื้อหาในภาพรวม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกคนมีอิสระในการลงมติ และการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับกรณีที่พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กมธ.ยกร่างฯใช้สิทธิงดออกเสียง ถือเป็นเอกสิทธิส่วนตัวในฐานะพล.ท.นาวินเป็นสมาชิกสปช. เพราะคณะกมธ.ยกร่างฯมีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในบางประเด็น

*จำเป็นคว่ำร่างรธน.

นายนิรันดร์ พันธรกิจ สมาชิก สปช. กล่าวภายหลังการลงประชาติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า สาเหตุที่ประชุมสปช.ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะ ตนได้เขียนข้อสังเกตไปยังกลุ่มไลน์ สปช.ที่มีจำนวนสมาชิก 197 ในช่วงเวลา 05.00 น.ของเช้าวันนี้ โดยระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหากผ่านการลงมติแล้วจะเกิดผลเสียต่อบ้านเมือง จำนวน 4 ข้อ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่สมาชิกส่วนใหญ่คล้อยตาม โดย 1.หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านจะต้องจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 47 ล้านฉบับ ซึ่งจะถูกตั้งข้อสังเกตจากประชาชนว่าเพราะเหตุใดร่างรัฐธรรมนูญไม่มีคำปรารภที่ขัดต่อประเพณีที่การร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งจะต้องมี ซึ่งเรื่องนี้ สปช.ต่างจังหวัดจะต้องเป็นผู้ตอบคำถาม 2.หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ก็มีแนวโน้มที่จะถูกคว่ำสูง เนื่องจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ไม่เห็นด้วย จะทำให้สูญเสียเงินในการทำประชามติ 8,000ล้านบาทโดย 4,000 ล้านบาทแรกคือการทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน เป็นประธาน และอีก 4,000ล้านบาท กับการทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่2หลังจากที่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ21 คนได้ร่างขึ้น

3.หากร่างรัฐธรรมนูญจะมีการรณรงค์สนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผ่านการทำประชามติจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เห็นต่างจากลุ่มการเมืองไม่เห็นด้วย ที่จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง และ 4.หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านจะเกิดประเด็นข้อกฎหมายในเรื่องการนับคะแนนการลงประชมติว่าจะใช้เสียงส่วนใหญ่ของผู้ที่มาใช้สิทธิ หรือเสียงส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิในการลงประชามติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ