ทั้งนี้ กทม.ได้พร่องน้ำในคลองสายหลักสายรอง เสริมประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำ และเพิ่มเครื่องสูบน้ำในพื้นที่จุดเสี่ยง อาทิ บริเวณแยกอสมท ถนนสุขุมวิท ซอยลาซาล ถนนสุวินทวงศ์-ลำลูกกา และแยกอโศกมนตรี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือแล้ว รวมถึงเตรียมความพร้อมบุคลากรในการปฏิบัติงานทุกจุด ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมปฏิบัติงานและให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในด้านต่างๆ
"หากฝนตกในปริมาณตามที่คาดการณ์ไม่เกิน 60 มิลลิเมตร กทม.สามารถรับมือได้ แต่หากปริมาณน้ำฝนเกินกว่าที่คาดการณ์ก็เตรียมความพร้อมในการเร่งระบายน้ำไม่ให้เกินกว่า 2 ชม. เพื่อลดผลกระทบกับประชาชน ทั้งปัญหาน้ำท่วมขัง และปัญหาการจราจร อย่างไรก็ตามกทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมฯ ตลอด 24 ชม. เพื่อสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือสำนักงานเขตตลอดจนประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองในจุดที่อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำบนผิวจราจร และบรรเทาปัญหาจราจร หากประชาชนพบปัญหาน้ำท่วมขังสามารถแจ้งที่เบอร์โทร 0 2248 5115" นายสัญญา กล่าว
ด้านนายอดิศักดิ์ ขันตี รองปลัด กทม. กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องกำลังคน อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ ให้มีความพร้อมตลอดเวลา ในส่วนของเจ้าหน้าที่ประจำจุดประตูระบายน้ำได้ย้ำให้ตรวจสอบระดับน้ำหน้าประตูระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง และเปิดเดินเครื่องตลอดเวลา รวมทั้งให้สำนักงานเขตพื้นที่สนธิกำลังกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมมือให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหารถเสีย ปัญหาน้ำท่วมขังผิวจราจร
สำหรับจุดอ่อนน้ำท่วมในพื้นที่ กทม.ประมาณ 10 จุดที่ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น ถนนบางนา ช่วงสถานี BTS แบริ่ง ซอยลาซาล ถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน ถนนเพชรเกษม ถนนสุขุมวิท แยกอโศกมนตรี ถนนงามวงศ์วาน แนวทางรถไฟสายตลิ่งชัน ถนนเทศบาลสงเคราะห์ ประชาชื่น โดยในเบื้องต้น กทม.ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมมือกันแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น