"ผู้ว่าฯ รู้สึกเป็นห่วงถึงสถานการณ์ภัยแล้ง และเกษตรกรในพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพฯ เนื่องจากปริมาณน้ำมีน้อยไม่น่าจะทำการเกษตรได้โดยเฉพาะการทำนาปรัง" นางเบญทราย กล่าว
โดยวันนี้นายกังวาฬ ดีสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุหว่ามก๋อและเกิดฝนตกในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาว่ามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยเขื่อนหลักทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ถึง 2% คาดว่าปีหน้าอาจจะแล้งมากกว่าปีนี้
สำหรับการระบายน้ำของ 4 เขื่อนหลักสำคัญเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมามีการระบายน้ำลงสู่ลุ่มเจ้าพระยารวมประมาณ 6.08 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำ 70 ลบ.ม./วินาที แต่วันนี้(21 ก.ย. 58) การระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 397 ลบ.ม./วินาที สูงกว่าเมื่อวานมาก ขณะที่ค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาในวันนี้ไม่กระทบต่อพื้นที่เกษตรกร โดยเวลา 08.00 น. บริเวณสถานีสูบน้ำแจงร้อนวัดได้ 0.3 กรัม/ลิตร สถานีสูบน้ำดาวคะนอง 0.3 กรัม/ลิตร สถานีสูบน้ำบางกอกใหญ่ 0.1 กรัม/ลิตร สถานีสูบน้ำเทเวศร์ 0.2 กรัม/ลิตร และสถานีสูบน้ำบางเขนใหม่ 0.3 กรัม/ลิตร ซึ่งสำนักการระบายน้ำจะตรวจวัดคุณภาพความเค็มของน้ำทุกวัน
ส่วนพยากรณ์อากาศวันนี้พบว่าบริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมประเทศพม่าและลาว มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังอ่อน ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนน้อยในระยะนี้ โดยการพยากรณ์อากาศ 7 วัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 20-21 ก.ย. และ 25-26 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจายร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายร้อยละ 40-60 ของพื้นที่