กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 14 จังหวัด แยกเป็น ภาคกลาง 4 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ประกอบด้วย ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ชลบุรี ตราด ระยอง และจันทบุรี ภาคใต้ 3 จังหวัด ประกอบด้วย ระนอง พังงา และภูเก็ต รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเล ที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน พื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัด ให้เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย
โดยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์และเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น รวมถึงอาสาสมัคร พร้อมตรวจสอบท่อและทางระบายน้ำในเขตเมืองมิให้มีสิ่งของหรือวัสดุอุดตัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมถึงตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ น้ำตก ชายฝั่งทะเล หากอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยให้พิจารณาแก้ไขและสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวชั่วคราว
กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรระมัดระวังในการเดินเรือ เนื่องจากทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป