ก.เกษตรฯ สั่งกรมชลฯ คุมเข้มสำรองใช้น้ำฤดูแล้งนี้เฉพาะอุปโภค-บริโภคเท่านั้น

ข่าวทั่วไป Wednesday September 30, 2015 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้กรมชลประทาน คณะกรรมการบริหารกลุ่มผู้ใช้น้ำ อาสาสมัครชลประทาน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดลงพื้นที่ชี้แจงของเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากมีความกังวลว่าหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว เกษตรกรจะทำนาปรังต่อเนื่องเหมือนฤดูปกติ ในขณะที่น้ำต้นทุนมีจำกัด ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงที่ข้าวนาปรังจะได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำได้

ล่าสุดจากการสำรวจพบว่า มีการทำนาปรังในลุ่มเจ้าพระยาไปแล้วราว 500,000 ไร่ จากพื้นที่นาปรังทั้งในและนอกเขตชลประทาน 10.7 ล้านไร่

เนื่องจากปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักที่ใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันประมาณ 2,684 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย จะต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค ในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 – พฤษภาคม 2559

"ขอความร่วมมือไปถึงเกษตรกร ตลอดจนผู้ใช้น้ำทุกกลุ่มของลุ่มเจ้าพระยาว่า ฤดูแล้งปีนี้ไม่มีน้ำพอสำหรับการทำนาปรัง โดยจะให้เจ้าหน้าที่ชลประทานเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจในความจำเป็นที่จะใช้น้ำที่เห็นอยู่ในเขื่อนเพื่อประโยชน์อะไรบ้าง พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อที่จะใช้น้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมสูงสุด สำหรับในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 10 ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาในเขตจังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับผู้ใช้ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาฝนตกด้านเหนือเขื่อนทั้ง 4 แห่งน้อยมาก ทำให้สภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก มีระดับน้ำและปริมาณน้ำลดต่ำลง และส่งผลต่อเนื่องให้การรับน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 10 ได้แก่ คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองชัยนาท-อยุธยา และคลองระพีพัฒน์ ลดน้อยลงตามไปด้วย"นายธีรภัทร กล่าว

สำหรับกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ของสำนักงานชลประทานที่ 10 มีทั้งกลุ่มพื้นฐาน และกลุ่มบริหาร โดยกลุ่มพื้นฐานมีทั้งหมด 942 กลุ่ม มีสมาชิกประมาณ 20,000 ราย ส่วนกลุ่มบริหารมีจำนวน 160 กลุ่ม มีสมาชิก 40,000 ราย ทั้งนี้การลงพื้นที่ชี้แจงนั้นจะดำเนินการไปจนถึงเดือนตุลาคม พร้อมทั้งจะมีการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอนาคตเพื่อเป็นแนวทางวางแผนการใช้น้ำต่อไปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ