นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่าว่า ตามที่ตัวแทนของประชาชนผู้ร้องเรียนและผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการทำเหมืองแร่ทองคำในบริเวณพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบบริเวณเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำ และในนาข้าวมาตั้งแต่ปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก ได้เดินทางมาทวงถามความคืบหน้าของกรณีดังกล่าวที่เกี่ยวพันกับการทุจริตในการอนุมัติสัมปทานให้ขุดเหมืองแร่ทองคำโดยมิชอบนั้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคดีดังกล่าวที่กระทบถึงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับมีพยานหลักฐานเบื้องต้นจากคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย(ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ว่า พบบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย และถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทยที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ และให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย ทางสำนักงาน ก.ล.ต.จึงส่งข้อมูลดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. ต่อไป
"เหตุนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตในการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานฯ และมีอนุกรรมการ ได้แก่ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านกฎหมายและการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการไต่สวนโดยเร่งด่วนต่อไป" นายวิชา กล่าว