"ผมว่ามันเกินเลยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไปแล้ว" นายอภิศิลป์ ดรุงกานนท์ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวทางสถานีโทรทัศน์เช้านี้
นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า การที่กลุ่มม็อบไซเบอร์ประกาศเข้าไปโจมตีเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือธนาคารพาณิชย์น่าจะเป็นเรื่องความคึกคะนองมากกว่า ซึ่งอาจถูกทางการติดตามจับกุมตัวไปดำเนินคดี ไม่ได้รับการยกเว้นเหมือนครั้งก่อน ขณะเดียวกันตนเองเชื่อว่าผู้รับผิดชอบเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐคงเตรียมมาตรการรองรับปัญหานี้ไว้แล้ว และไม่เชื่อว่าทางการจะดำเนินการเรื่อง Single Gateway ไปเพื่ออะไร แต่ยังไม่เห็นในรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้ตามที่เป็นข่าว
นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวอาจไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองหรือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่เป็นการสร้างกระแสเพื่อให้สามารถขายเครื่องมือที่เอาไว้ใช้ป้องกันการถูกโจมตี
ด้านพล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร เชื่อว่า ปฏิบัติการของกลุ่มที่ออกมาต่อต้าน Single Gateway ในคืนนี้ น่าจะยังใช้ปฏิบัติการโจมตีแบบของ DDoS ด้วยการใช้ F5 เช่นเดียวกับที่เคยทำเมื่อคืนวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา เพียงแต่อาจจะเป็นการเพิ่มระดับการโจมตีที่มากขึ้น หลังจากที่มีข่าวว่าในการโจมตีรอบใหม่นี้จะมีการแจก app เพิ่มความเร็วการ auto refresh 100 เท่า
"F5 เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ DDoS ในการยิง traffic เข้ามาเยอะๆ คือเดิมเขายิงเข้ามาหลักแสน แต่ครั้งนี้เขาอาจจะเพิ่มขึ้นไปอีก 10 เท่าคือหลักล้าน คราวที่แล้วดู traffic สูงสุดที่ 120,000 คือถ้าเพิ่มอีก 100 เท่า รอบนี้ก็เป็น 12 ล้าน" พล.ต.ฤทธี กล่าว
ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าหากเป็นการโจมตีด้วยปฏิบัติการ DDoS จะยังสามารถรับมือได้ในระดับหนึ่ง แต่หากเป็นการโจมตีที่ใช้เครื่องมืออย่างอื่นด้วยปริมาณ traffic ที่สูงขึ้นกว่านี้ หรือการใช้วิธีเจาะเข้าไปในช่องโหว่ของระบบและไปปิด service นั้น คงต้องใช้เครื่องมือป้องกันในระดับที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งมีเครื่องมือที่สามารถป้องกันการโจมตีจากปฏิบัติการ DDoS ซึ่งสามารถรับมือกับ traffic ได้สูงสุดถึง 90 ล้าน
พล.ต.ฤทธี กล่าวว่า จุดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ส่วนราชการต้องกลับไปคิดว่าในกรณีที่จะเกิดภาวะวิกฤติเช่นนี้ขึ้น หน่วยงานราชการต้องมีความพร้อมรับมือในระดับหนึ่ง และต้องคิดว่าบางหน่วยงานที่ตกเป็นเป้าหมายในลักษณะแบบนี้ ถ้าเป็นหน่วยงานบริการประชาชนทั่วไปอาจไม่ต้องลงทุนสูงในการใช้เครื่องมือเข้ามาป้องกัน แต่หน่วยงานที่ตกเป็นเป้าหมายทางด้านความมั่นคง หรือหน่วยงานเชิงสัญลักษณ์นั้น คงจำเป็นต้องหาความร่วมมือกับภาคเอกชนเข้ามาช่วย ซึ่งในระยะยาวต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วยป้องกันการถูกโจมตีในลักษณะนี้ แต่ต้องคำนึงถึงด้วยว่าเมื่อมีการซื้อเครื่องมือป้องกันนี้มาใช้แล้วจะมีการใช้ให้คุ้มกับประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นจะสูญเสียงบประมาณไปโดยใช่เหตุ
ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ยังเชื่อว่า ประชาชนชาวเน็ตส่วนใหญ่จะใช้ดุลยพินิจในการไม่ตกเป็นเครื่องมือสร้างกระแสกดดันรัฐบาลตามข้อเรียกร้องของบางกลุ่มที่จะเกิดผลกระทบต่อประเทศชาติตามมา
"น่าจะใคร่ครวญ หยุดทำร้ายประเทศไทยของเราเสียที รวมทั้งส่วนราชการส่วนใหญ่ ทั้งหน่วยความมั่นคง หน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในเป้าหมายของการโจมตีในคืนนี้ เพราะเขาไม่ได้รู้เรื่อง และไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้เลย การที่ไปกดดัน ไปทำเขาแบบนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมเท่าไร และประชาชนจะโดนหางเลขไปด้วย เพราะความเดือดร้อนจากการไม่สามารถเข้าถึงเข้ามูลหรือการบริการข้อมูลทางเน็ตได้นั้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องใช้เครื่องมือในการติดต่อสื่อสารต่างๆ ในเว็บไซต์ก็จะถูกปิดกั้นไปด้วย ทำให้ได้รับผลกระทบในวงกว้าง" พล.ต.ฤทธี กล่าว